สองผู้บุกเบิกลัทธิขงจื่อใหม่ในญี่ปุ่นยุคเอโดะ: ฟุจิวะระ เซะอิกะ (Fujiwara Seika) และ ฮะยะชิ ราซัน (Hayashi Razan)
ในประวัติศาสตร์ลัทธิขงจื่อของญี่ปุ่นยุคเอโดะนั้น มีอยู่ 2
คนที่ต้องถือว่าเป็น “ผู้บุกเบิก” คนสำคัญ
ก็คือ ฟุจิวะระ เซะอิกะ (Fujiwara Seika 藤原 惺窩) กับ ลูกศิษย์ของเขาคือ ฮะยะชิ
ราซัน (Hayashi Razan 林 羅山)
ตามประวัติแล้ว เดิมนั้นทั้งคู่เกิดในตระกูลชนชั้นนำ
และได้บวชเรียนในพุทธศาสนา ศึกษาคำสอนของศาสนาจนแตกฉาน จนกระทั่งในภายหลัง
ทั้งคู่ต่างพบว่า ศาสนาพุทธไม่อาจตอบคำถามของชีวิตตนได้
และยังเป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับธรรมชาติอีกด้วย ทั้งคู่จึงได้สึกจากการเป็นพระ และเดินตามวิถีทางของลัทธิขงจื่อนับแต่นั้นมา
ฟุจิวะระ เซะอิกะ ผู้เป็นอาจารย์ของราซันนั้น
เริ่มต้นชีวิตของนักปราชญ์ลัทธิขงจื่อ ตามที่บันทึกไว้ดังต่อไปนี้
“ชะคุ โชไต (Shaku Shōtai, 1548-1607)และ เระอิซัน (Reizan) ต่างก็มั่นใจในความรู้ของตน ทั้งคู่ได้ตักเตือนเซะอิกะว่า 'ตอนแรกเจ้าสมาทานพระพุทธศาสนา แต่บัดนี้เจ้ากลายเป็นพวกลัทธิขงจื่อไปเสียแล้ว เจ้าได้ละทิ้งสัจธรรมและหันกลับไปสู่วิถีของโลก เหตุใดเจ้าจึงไม่เข้าใจสิ่งนี้กันเล่านี่?' เซะอิกะตอบกลับว่า 'วิถีทางทั้งสองแบบ คือ วิถีแห่งโลกุตตรธรรม (supramundane way) และวิถีแห่งโลกียะธรรม (mundane way) นั้นเป็นทฤษฎีที่ศาสนาพุทธของพระสงฆ์อย่างพวกท่านได้อธิบายไว้ พวกท่านตีตราว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นแค่สิ่งสมมติของโลก แต่หลักการที่ว่านี้ขัดแย้งกับเทียนหลี่ (天理 ระเบียบแบบแผนของสวรรค์) และยังเป็นการละเลยต่อหลักการเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆที่เหมาะสมของมนุษย์ เช่นนี้จะเรียกทฤษฎีของพวกท่านว่าเป็นวิถีทางที่ถูกต้องได้อย่างไรเล่า?' พระภิกษุทั้งสองรูปไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้เลย” (Sentetsu Sōdan, Vol.1, Dai nihon bunko [Tokyo,1936])
ใน Routledge Encyclopedia of Confucianism นั้น ระบุว่า
เซะอิกะเป็นคนแรกที่ทำให้การสอนคำสอนของขงจื่อมาอยู่ในมือของ Confucian เอง เพราะก่อนหน้านั้น
คำสอนของลัทธิขงจื่อนั้นถูกสอนและตีความโดยบรรดาพระในพุทธศาสนา
โดยพวกพระมักใช้คำสอนของขงจื่อเป็นคำสอนด้านศีลธรรมพื้นฐาน
แล้วค่อยต่อด้วยคำสอนทางพุทธศาสนาซึ่งพวกพระถือว่า “เหนือกว่า”
เพราะพุทธศาสนาแยกคำสอนแบบ “โลกียะ” กับ “โลกุตตระ” ออกจากกันนั่นเอง
เซะอิกะ ซึ่งศึกษาแล้วพบว่า คำสอนของพุทธศาสนานั้น “ขัดกับธรรมชาติ”
(against nature) จึงเป็นคำสอนที่นอกรีตนอกรอย ไม่เป็นความจริง
ส่วนฮะยะชิ ราซันศิษย์ของเขา ก็บันทึกเรื่องราวของเซะอิกะผู้เป็นอาจารย์ไว้ดังที่เขาก็เขียนเอาไว้ในงานเขียนชื่อ
Seika sensei gyōjō (หลักข้อประพฤติของท่านอาจารย์เซะอิกะ)
ว่า
“ท่านอาจารย์ของเราเคยเป็นสาวกในศาสนาพุทธมาก่อน แต่ตอนนั้นจิตใจของท่านไม่อาจเป็นไทจากความกังขาต่างๆได้เลย ดังนั้นท่านจึงอ่านงานเขียนของบรรดาปราชญ์ในลัทธิขงจื่อ และได้เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยอีกต่อไปว่า นี่แหละคือวิถีทาง (เต๋า) ที่ดำเนินอยู่ วิถีทาง (เต๋า) ไม่อาจประกอบจากสิ่งใดได้ นอกไปจากความสัมพันธ์แต่ละชุดของมนุษย์เท่านั้น ศาสนาพุทธได้ทำลายแหล่งที่มาของมนุษยธรรม (เหริน 人) และปฏิเสธความชอบธรรม (อี้ 義) ลง นั่นแหละคือสาเหตุที่ว่าทำไมศาสนาพุทธถึงเป็นปรัชญาของพวกนอกรีต” (Razan sensei bunshū [A collection of writing of Master Razan], ed. Kyoto Shisekikai [Kyoto, 1918-19], II, p.20).
ส่วนตัวของเซะอิกะเอง ก็มีประวัติคล้ายๆกัน โดยเริ่มสนใจศึกษาลัทธิขงจื่อตั้งแต่ยังคงอยู่ใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ด้วย
“มีอยู่ปีหนึ่ง ที่ โดชุน (Dōshun , ฉายาทางธรรมของราซันขณะบวชเป็นพระภิกษุ) ได้เรียกรวมเหล่าสานุศิษย์และได้บรรยายในหัวข้อคัมภีร์หลุนอี่ว์ของขงจื่อ โดยใช้อรรถกถาของจูซีประกอบการอธิบายตัวบทไปด้วย ในปีนั้นผู้คนจากทั่วทั้งแผ่นดินญี่ปุ่นได้พากันเดินทางมาฟังการบรรยายของเขา หน้าประตูกุฏิของเขานั้นผู้คนพากันมุงล้อมไว้เสียหมดราวกับเป็นตลาด คิโยะวะระ ฮิเดะทะกะ (Kiyowara Hidetaka) ได้ทูลถวายคำแนะนำต่อราชสำนักของพระจักรพรรดิว่าตามประเพณีแล้ว ไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ขึ้นถวายคำบรรยายในนครมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น โดชุนยังไม่ยึดตามการตีความของบัณฑิตลัทธิขงจื่อในสมัยราชวงศ์ฮั่นหรือราชวงศ์ถังอีกด้วย แต่กลับใช้การตีความตามทฤษฎีใหม่ๆของพวกบัณฑิตสมัยราชวงศ์ซ่งแทน ความผิดของเขามิใช่เรื่องเล็กๆเลย เขาให้ความเห็นที่ผันแปรไปตามกรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆไป และไม่มีข้อตกลงใดร่วมกันได้เลย ดังนั้น ราชสำนักจึงถามความเห็นของเขาในเรื่องการทหารดู เมื่อได้ยินเช่นนี้ อิเอะยะสุ (โชกุนตระกูลโตคุงาวะคนแรก) จึงได้แสดงความเห็นว่าวิถีทางของบรรดาปราชญ์ลัทธิขงจื่อนี้ควรเป็นที่ร่ำเรียนศึกษาของทุกๆคน และบัณฑิตแต่ละคนควรได้รับการอนุญาตให้เลือกระหว่างจะใช้คำอธิบายแบบเดิมหรือใช้คำอธิบายแบบใหม่ก็ได้ ความพยายามของฮิเดะทะกะในการจะขัดขวางราซันจึงเป็นหมันไปเพราะความใจแคบและความอิจฉาของเขาเอง พฤติกรรมของเขาเป็นเรื่องเลวทรามน่าตำหนิยิ่ง แต่ด้วยเหตุนี้เอง ราชสำนักจึงปฏิเสธคำตำหนิวิจารณ์ของฮิเดะทะกะที่มีต่อราซันไปเสีย” (Zōho kokushi taikei, op.cit., XXXVIII, pp.340-41)
และ
“นับจากนั้นเป็นต้นไป โนะบุทะกะ (ราซัน) ก็สามารถทำการบรรยายคัมภีร์ในลัทธิขงจื่อโดยใช้การตีความของจูซีได้ในนครเกียวโต โดยไม่มีเหตุขัดข้องอีก ดังนั้น เขาจึงเป็นบุคคลแรกที่สอนปรัชญาของจูซีในประเทศญี่ปุ่น” (p.100)
เราอาจเห็นได้ว่า
การที่ราซันสามารถเอาชนะศัตรูทางการเมืองของตนเองได้นั้น
ก็เพราะดูเหมือนโชกุนอิเอะยะสุเป็นคนที่ใจกว้างมากในการอนุญาตให้มีการใช้คำสอนและอรรถกถาของนักปราชญ์ต่างๆได้
โดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นของนักปราชญ์คนใดคนหนึ่ง
ทำให้ญี่ปุ่นยุคเอโดะมีเสรีภาพในการตั้งสำนักคำสอนของลัทธิขงจื่อในหลายๆสำนักด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นสายจูซี (Zhu Xi) สายหวังหยิงหมิง (Wang Yangming) สายศึกษาเรื่องโบราณ (Kobunshigaku ซึ่งเป็นสายที่ไม่เอาด้วยกับลัทธิขงจื่อใหม่
แต่ต้องการกลับไปหาลัทธิขงจื่อดั้งเดิม) ฯลฯ เป็นต้น (เรื่องตลกร้ายก็คือ
ภายหลังลูกหลานและสาวกของราซันนี่เองที่เป็นผู้ร่างกฎหมายให้คำสอนของจูซีเท่านั้นที่เป็น orthodoxy
ของลัทธิขงจื่อระดับประเทศ ส่วนแนวสายอื่นๆที่ไม่ใช่จูซีกลายเป็นสายนอกรีต)
อาจารย์และศิษย์คู่นี้
ถือว่ามีส่วนสำคัญไม่เฉพาะในเรื่องปรัชญาลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) เท่านั้น
แต่สองคนนี้ยังมีบทบาทอย่างสูงมากในเรื่องนโยบายปกครองประเทศของรัฐบาลบะคุฟุของโชกุนตระกูลโตคุงาวะ
(Tokugawa Bakufu) อีกด้วย
อย่างเซะอิกะผู้เป็นอาจารย์เองก็เคยเป็นผู้เขียนจดหมายทางการทูตให้แก่การค้าขายระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกับอาณาจักรต่างๆ
(ก่อนที่ภายหลัง บะคุฟุจะสั่งปิดประเทศตามนโยบาย “สะโกคุเซอิ”)
เช่น การค้าขายทางสำเภาระหว่างอาณาจักรอันนัม (เวียดนาม) กับญี่ปุ่น
ฯลฯ ส่วนราซันผู้เป็นศิษย์นั้น
ได้รับการแนะนำโดยเซะอิกะต่อโชกุนอิเอะยะสุด้วยตนเอง
เพราะตอนที่อิเอะยะสุทาบทามเซะอิกะมาเป็นกุนซือให้นั้น เซะอิกะได้ปฏิเสธ
เพราะต้องการความสงบของชีวิต จึงแนะนำศิษย์ตนให้กับอิเอะยะสุแทน
และราซันผู้นี้แหละ
ที่ได้ออกกฎหมายต่างๆในช่วงแรกๆของยุคเอโดะให้กับรัฐบาลบะคุฟุด้วย.
__________________________
[บรรณานุกรม]
Masao
Maruyama, Studies in the Intellectual History of Tokugawa Japan, tr. Mikiso
Hane (Tokyo : University of Tokyo Press, 1974)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น