แปลบางส่วนจากพงศาวดารสื่อจี้ (史記) ตอนที่ 2: เหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" สมัยฉินซือหวงตี้
เนื่องจากนั่งอ่านตำราหลุนอี่ว์ จงยง ต้าเสวีย ฉบับภาษาอังกฤษของเจมส์ เล็กก์ (James Legge) อยู่ในส่วน prolegomena บทที่ 1 ซึ่งเล็กก์ได้อธิบายความเป็นมาของคัมภีร์ในลัทธิขงจื่อว่ามีความเป็นมาอย่างไร สูญหายไปไหนบ้าง ฉบับที่มีนี้เอามาจากไหน เหลือรอดมากี่เวอร์ชั่น ใครเป็นบรรณาธิการที่ edited มาบ้าง ฯลฯ แล้วพบว่า แกยกข้อความจากในสื่อจี้ (史記 Historical Records) ในตอนเหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" (Burning of books and Burying of scholars) พอดี หลังจากที่แปลบางส่วนจากสื่อจี้ฉบับ oxford world's classics ไปเมื่อคราวก่อน (โปรดดู Note ที่เขียนสองครั้งก่อน) แล้วหาตอนเหตุการณ์นี้ไม่เจอ วันนี้ได้เจอ เลยเอามาแปลเสียเลย ทุกท่านที่สนใจ จะได้อ่านจาก "ตัวบท" (text) ไปเลย ดังนี้ครับ
อ้อ ลืมไป แหล่งอ้างอิงของเราคือ Confucius., Confucian Analects, The Great Learning, and The Doctrine of The Mean, (New York: Dover Publications,1971)
************************************************
ในปีที่ 34 ของรัชกาล [1] พระจักรพรรดิทรงเสด็จนิวัติจากการประพาสดินแดนทางใต้ที่ทรงขยายมาถึงดินแดนเดิมของแคว้นเย่ว์ แล้วทรงพระราชทานงานเลี้ยงขึ้นที่พระราชวัง ณ กรุงเสียนหยาง เมื่อเหล่าขุนนางในกรมราชบัณฑิต [2] ทั้งเจ็ดสิบคนมาเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์และถวายพระพรให้ทรงมีพระชนมายุยืนนาน โจวชิงเฉิน (周青臣) หนึ่งในเสนาบดีใหญ่ได้ก้าวออกมาข้างหน้า แล้วทูลว่า "สมัยก่อนหน้านี้ แคว้นฉินครอบครองดินแดนเพียงแค่ 1,000 ลี้เท่านั้น แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระปัญญาญาณของฝ่าพระบาท ได้ทรงทำให้ทั้งใต้หล้าสงบร่มเย็น อีกทั้งยังทรงขับไล่เหล่าอนารยะชนเผ่าป่าเถื่อนออกไป เพื่อที่ว่าเมื่อตะวันและจันทราทอแสงประกายนั้น เหล่าผู้ปกครองทั้งหลายที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในฐานะอาคันตุกะจะได้รับรู้ไว้เสียว่าพวกเขาต้องยอมจำนนต่อพระองค์ ทรงเปลี่ยนแว่นแคว้นดินแดนเดิมของเหล่าเจ้าแคว้นให้กลายเป็นมณฑลและอำเภอ ซึ่งทำให้ราษฎรต่างสุขสันต์ในความสงบร่มเย็นนี้ และไม่ต้องทนทุกข์กับหายนะภัยจากสงครามและการแย่งชิงดินแดนกันอีกต่อไป สิ่งเหล่านี้จะถูกเล่าขานต่อไปอีกยาวนานนับหมื่นชั่วอายุคน เพราะแม้แต่ในยุคโบราณกาลที่สูงส่งที่สุดนั้น ก็หาได้มีผู้ใดมีคุณธรรมเป็นเลิศดังเช่นฝ่าพระบาทไม่"
ขณะที่พระจักรพรรดิทรงพอพระทัยในคำสรรเสริญเยินยอนี้นั้น ฉุนยวี๋เย่ว์ (淳于越) หนึ่งในราชบัณฑิต ซึ่งเดิมเป็นคนแคว้นฉี จึงทูลต่อไปว่า "กระหม่อมได้ยินมาว่า บรรดากษัตริย์แห่งราชวงศ์อินและราชวงศ์โจวที่ปกครองมายาวนานกว่าพันปีนั้น ต่างก็พระราชทานที่ดินและตำแหน่งเจ้าแคว้นให้แก่โอรสและเชษฐาและอนุชาของตน รวมทั้งแก่ขุนนางทั้งหลายผู้มีความดีความชอบด้วย เพื่อที่กษัตริย์เหล่านี้จะได้พึ่งพิงและให้พวกเจ้าแคว้นเหล่านี้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่ตน แต่มาบัดนี้ ฝ่าพระบาททรงครอบครองสารพัดสิ่งแม้แต่ในมหาสมุทร อีกทั้งพระราชโอรสและพระธิดาของพระองค์ก็มิใช่อื่นใด หากเป็นแต่เพียงราชนิกูลเท่านั้น [3]..."
พระจักรพรรดิทรงขอความเห็นจากเหล่าเสนาบดีคนอื่นๆในเรื่องนี้ และอัครมหาเสนาบดีหลี่ซือ (李斯) ได้ทูลว่า "เหล่าผู้ปกครองทั้งห้า (五帝) ต่างก็ไม่เป็นสองรองใคร หรือราชวงศ์ทั้งสาม [4] เองก็ไม่ได้รับเอาวิถีการปกครองของแต่ละราชวงศ์ก่อนหน้ามาใช้เลย แต่ละราชวงศ์ก็มีระบบการบริหารปกครองเป็นของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งทั้งนี้ก็มิใช่ว่าปกครองต่างกันเพราะขัดแย้งกันกับราชวงศ์ก่อนหน้า หากแต่ต่างกันเพราะแต่ละยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปนั่นเอง มาบัดนี้ ฝ่าพระบาททรงวางรากฐานของการปกครองแบบจักรพรรดิไว้แล้ว เพื่อที่มันจะได้อยู่ยืนยงสืบไปนับหมื่นชั่วอายุคน นี่เป็นเรื่องสูงส่งเกินกว่าที่พวกบัณฑิตโง่เง่าจะเข้าใจได้ และยิ่งไปกว่านั้น คนแคว้นเย่ว์ยังคงพูดอยู่อีกว่าแคว้นของตนนั้นขึ้นต่อราชวงศ์ทั้งสามเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสอดคล้องกับระบอบของพระองค์เลย ในสมัยก่อนๆนั้น เมื่อตอนที่พวกเจ้าผู้ครองแคว้นแต่ละแห่งพากันทำศึกแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน ต่างก็พยายามรวบรวมเอาบรรดาบัณฑิตที่พเนจรท่องไปตามที่ต่างๆมาไว้ชุบเลี้ยง แต่บัดนี้ ใต้หล้าอยู่ในสภาพที่มั่นคงดีแล้ว อีกทั้งกฎหมายและราชโองการทั้งปวงก็มาจากผู้มีอำนาจสูงสุด เพียงพระองค์เดียว (one supreme authority) พวกที่อยู่เหย้าเรือนและมีกำลังทำไร่ไถนาก็ทำไป พวกที่เป็นบัณฑิตร่ำเรียนกฎหมายและข้อห้ามทั้งปวงก็ร่ำเรียนไป แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้น พวกบัณฑิตกลับพากันไม่ร่ำเรียนในสิ่งที่เป็นเรื่องราวปัจจุบันทุกวันนี้ แต่ดันไปศึกษาแต่เรื่องราวในสมัยโบราณเก่าก่อนโน้น แล้วก็พากันมาว่ากล่าวประนามยุคสมัยปัจจุบันว่าไม่ดี ชักนำประชาชนให้หลงทางและไร้ระเบียบ...พวกนี้สอนผู้คนให้ต่อต้านกฎหมายของพระองค์ เมื่อพวกนี้ได้ยินว่ามีราชโองการประกาศใช้ออกมาแล้ว พวกนี้ก็เอามาวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มา เวลาอยู่ในราชสำนัก พวกนี้ก็ไม่พอใจอยู่ในใจ เมื่อออกนอกราชสำนัก พวกนี้ก็พากันพูดคุยตามท้องถนน ... ดังนั้นพวกนี้จึงชักนำประชาชนให้ทำผิดด้วยการซุบซิบพูดจาแต่เรื่องชั่วร้าย ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกห้ามปรามเสียแล้ว พระราชอำนาจของฝ่าพระบาทจะต้องเสื่อมลงเป็นแน่ และกลุ่มก้อนต่างๆของพวกนั้นก็จะก่อตัวกันขึ้นมามากมาย ทางที่ดีที่สุดก็คือต้องห้ามปรามพวกนี้เสีย กระหม่อมภาวนาว่าบันทึกต่างๆของพวกนักบันทึกประวัติศาสตร์จะถูกเผาให้หมด ยกเว้นไว้แต่เฉพาะบันทึกของแคว้นฉินเท่านั้น และยกเว้นบันทึกของเหล่านักประวัติศาสตร์สังกัดกรมราชบัณฑิตนี้ด้วย นอกนั้น ทั่วทั้งใต้หล้า ใครก็ตามที่คาดว่าน่าจะเก็บคัมภีร์ซือจิง (Shih-ching / Classic of Poetry) หรือคัมภีร์ซูจิง (Shu-ching / Classic of Documents) หรือตำราต่างๆของร้อยสำนักปรัชญา (Books of Hundred Schools) จะต้องถูกเรียกให้นำไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละเขตอำเภอ เพื่อนำไปเผาเสียให้หมด และใครก็ตามที่กล้าพูดเกี่ยวกับคัมภีร์ซือจิงหรือคัมภีร์ซูจิงจะต้องถูกประหาร ร่างของพวกมันจะต้องถูกนำไปประจานที่ตลาด และใครก็ตามที่กล้าเอ่ยถึงเรื่องราวในอดีตกาลเพื่อจะเอามาตำหนิปัจจุบันแล้วล่ะก็ จะต้องถูกประหารพร้อมกับโคตรตระกูลของมัน หากมีเจ้าหน้าที่ทางการคนใดที่รับทราบโทษทัณฑ์อันรุนแรงตามกฎหมายนี้แล้วยังไม่แจ้งให้พวกต่อต้านรู้ไว้ จะถูกถือว่ามีความผิดไปพร้อมกับพวกมันด้วย และใครก็ตามที่ไม่ยอมเผาหนังสือตำราเหล่านี้ภายในสามสิบวันนับจากมีราชโองการประกาศออกไป จะต้องถูกตีตราและส่งออกไปเป็นแรงงานสร้างกำแพง [5] เป็นเวลาสี่ปี ตำราและหนังสือที่ได้รับอนุญาตให้เก็บไว้ได้มีเพียงแค่ตำรายา ตำราที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และตำราทำการเกษตรเท่านั้น หากมีใครประสงค์จะเรียนกฎหมาย ก็ให้ไปหานายอำเภอแล้วเรียนรู้กฎหมายจากพวกเขาเสีย"
พระจักรพรรดิทรงตัดสินพระทัยอนุมัติ (approved) ราชโองการตามนี้
เหตุการณ์การกวาดล้างบรรดาปราชญ์ตามมาไม่นานนัก หนึ่งปีให้หลังจากเหตุการณ์เผาตำราแล้ว ความขุ่นเคืองของพระจักรพรรดิยิ่งถูกกระตุ้นจากข้อคิดเห็นของบัณฑิตสองคนที่เคยเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ จึงทรงรับสั่งให้ตั้งกรมขึ้นเพื่อเค้นถามอย่างเข้มงวดว่ามีชั้นเรียนของสองคนนี้อยู่ที่ใดบ้างในกรุงเสียนหยาง ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาว่าพวกเขาปั่นหัวผู้คนหรือพูดเรื่องไม่ดีอะไรเกี่ยวกับพระองค์บ้าง กรมผู้ตรวจการ (Censors) ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอบสอน และค้นพบว่ามีบัณฑิตถึง 460 คนที่ก่อเรื่องร้ายแรงฝ่าฝืนข้อห้าม พวกบัณฑิตทั้งหมดถูกฝังลงในหลุมทั้งเป็นๆ เพื่อเป็นตัวอย่างไว้เตือนไปทั้งใต้หล้า มีการถอดยศลดตำแหน่งและเนรเทศขุนนางที่ต้องสงสัยว่าเป็นพวกต่อต้านจำนวนมาก องค์ชายฝูซู (Fu-su) ซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตของพระจักรพรรดิ [6] ได้ทรงโต้แย้งพระบิดาโดยตรัสว่า มาตรการลงโทษบรรดาผู้ที่ท่องจำคำสอนของขงจื่อหรือพยายามจะเลียนแบบขงจื่อนั้น จะทำให้ราษฎรตีตัวออกห่างจากราชวงศ์ที่เพิ่งก่อตั้งไม่นานนี้ แต่เพราะทรงขัดแย้งกับพระบิดามากจนเกินไปจึงทำให้ทรงถูกส่งออกไปนอกราชสำนัก โดยให้ไปประทับอยู่กับแม่ทัพที่ควบคุมการสร้างกำแพงนั่นเอง
(pp.6-9 , *ผมขอร้องอย่างนึง ถ้าใครจะเอาส่วนที่ผมแปลนี้ออกไป ใส่ในงานหรืออะไรก็ตามที ช่วยให้เครดิตด้วยนะครับ หมายถึง ให้ใส่แหล่งอ้างอิงตามหนังสือของเล็กก์และบอกด้วยว่านำมาจากไหน เพราะคุณไม่ได้อ่านตัวเล่มเอง ผมแปลให้ได้อ่านกันเพราะอยากให้ทุกคนที่ไม่ค่อยได้อ่านตัว text หรือไม่ชำนาญภาษาต่างประเทศได้เข้าใจมันในภาคภาษาไทยครับ แต่ผมไม่ชอบพวกที่มา copy & paste กินแรงคนอื่น มันเข้าข่าย plagiarism เหมือนกันนะครับ)
************************************************
ข้อสังเกตุที่พบๆคือ
ข้อสังเกตแรก จะเห็นได้ว่า มีการพูดถึงการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากเดิมที่มีกษัตริย์+เจ้าผู้ครองแคว้นเยอะๆ มาเป็นการรวมศูนย์อำนาจเข้าที่จักรพรรดิพระองค์เดียว และยกเลิกการมีแว่นแคว้นต่างๆ แต่ให้แบ่งเบตปกครองออกเป็นมณฑล (provinces) และเขตอำเภอ (districts) แทน ทั้งยังมีการพูดถึงขอบเขตสถานะของราชนิกูลชัดเจนว่า สมัยราชวงศ์ก่อนหน้า ราชนิกูลจะถูกส่งไปปกครองตามศักดินาที่ได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ แต่ในสมัยฉินซือหวงตี้นั้น แผ่นดินทุกตารางนิ้วเป็นของจักรพรรดิ และเชื้อพระวงศ์จะต้องมีสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์ที่ไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องแบบศักดินาอีกต่อไป แต่ให้การบริหารดินแดนเป็นแบบระบบราชการแทน นี่คือจุดเริ่มต้นของระบบราชการรวมศูนย์ครั้งแรกของจีน และของโลกด้วย (ที่อื่นๆในเวลาเดียวกันยังไม่มีระบบราชการส่วนกลางที่ใหญ่แบบนี้)
ข้อสังเกตที่สอง คือ จะพบว่า สิ่งที่ฉินซือหวงตี้และเหล่าขุนนางรอบกายทำนั้น ทำให้เราเห็นว่า ระบบตำรวจลับ การเซ็นเซอร์สิ่งที่ผิดต่อกฎของรัฐ ค่ายกักกันแรงงาน ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในสมัยสตาลินปกครองโซเวียตมั่ง หรือฮิตเลอร์ตอนปกครองเยอรมนีมั่งนั้น ฉินซือหวงตี้และคณะได้ทำมาก่อนเสียอีก แถมโหดมากด้วย (ขนาดลูกตัวเองทักท้วง ยังส่งไปคุมแรงงานเลยว่ะ) ฮ่าๆๆ
_____________________________
[เชิงอรรถ]
[1] โดยนับจากตอนที่อิ๋งเจิ้งขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในฐานะ "กษัตริย์แห่งแคว้นฉิน" ส่วนในตอนที่ได้ขึ้นเป็น "จักรพรรดิคนแรกของใต้หล้า" นั้น ถือว่าเป็นปีที่ 7 , เทียบปฏิทินเกรกอเรี่ยนปัจจุบันคือ 213 ปี ก.ค.ศ
[2] 博士 (ป๋อซื่อ) หมายถึง ผู้รู้หนังสือ/บัณฑิตที่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนัก ถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งขุนนางสำคัญของราชวงศ์ฉิน ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 70 คน โปรดดู James Legge, อ้างแล้ว, p.7, ft. no.1
[3] ความหมายคือ เป็นราชนิกูลเพียงอย่างเดียว เป็น private individuals กันไป แต่ไม่ต้องรับตำแหน่งไปปกครองแว่นแคว้นแบบระบบศักดินาสมัยราชวงศ์ก่อนหน้า เหตุเพราะดินแดนทั้งหมดเป็นของพระจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว
[4] ผู้ปกครองทั้งห้า (五帝) หมายถึงบรรดาผู้ปกครองในตำนานทั้งห้าพระองค์ของจีน (The Five Ledendary Emperors -- ในที่นี้ไม่ขอแปลว่า จักรพรรดิทั้งห้า เพราะจะสับสนกับ ฉินซือหวงตี้ซึ่งเป็นจักรพรรดิจริงๆคนแรก คำว่า 帝 ในความหมายโบราณนั้นหมายถึง เทพเจ้า หรือ ผู้ปกครองเผ่าที่ยิ่งใหญ่ จึงขอแปลว่า "ผู้ปกครอง" จะดีกว่า) และ สามราชวงศ์ (三朝) หมายถึงสามราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่ได้ปกครองแบบ "ราชวงศ์" หรือสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์กันผ่านทางสายเลือด (เพราะก่อนหน้านั้น เป็นการปกครองที่ใช้วิธีเลือกผู้มีความสามารถมาปกครอง ไม่ใช่แบบสายเลือด) อันได้แก่ ราชวงศ์เซี่ย (Xia Dynasty) ราชวงศ์อินหรือราชวงศ์ซาง (Yin or Shang Dynasty) และราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty)
[5] กำแพงเมืองจีนทางตอนเหนือ
[6] องค์ชายฝูซู (扶蘇) เป็นองค์รัชทายาท (Crown Prince) และโอรสองค์โตของฉินซือหวงตี้ เนื่องจากทรงขัดแย้งกับพระบิดาในเหตุการณ์นี้ จึงทรงหมดบทบาทและถูกเนรเทศในทางพฤตินัย (คือเป็น de facto อ่ะ เพราะตัวบทไม่ได้บอกว่า "ถูกเนรเทศ" แต่บอกว่า "ถูกส่ง" ไปเฉยๆ) ให้ไปเป็นผู้คุมการก่อสร้างกำแพงใหญ่ที่ชายแดนทางเหนือ ภายหลังการสวรรคตของฉินซือหวงตี้ องค์ชายหูไห่ (胡亥) ผู้เป็นพระอนุชา ร่วมมือกับขันทีจ้าวเกา (趙高) และอัครมหาเสนาบดีหลี่ซือ ( 李斯 ดังที่ปรากฏในตัวบทนี้ด้วย) แก้ไขปลอมแปลงราชโองการแต่งตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ของฉินซือหวงตี้ โดยแก้ให้เป็นองค์ชายหูไห่ขึ้นครองราชย์แทน และมีพระบัญชาให้องค์ชายฝูซูฆ่าตัวตายเสีย (ความเห็นส่วนตัวของผู้แปล: นับเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะราชวงศ์ฉินอาจดีกว่านี้ก็ได้ ถ้าได้ตานี่มาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป)
ผมก็นึกสงสัยมาตลอดเหมือนกันว่า ถ้าฝูซูได้ขึ้นครองราชย์ ราชวงศ์ฉินจะเป็นยังไง
ตอบลบราชวงศ์ฉินอาจดีกว่านี้ก็ได้ครับ ถ้าได้ตานี่มาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อไป อิอิ
ลบ