(แปล) จดหมายเหตุรัชกาลแทโจ: ส่วนที่เกี่ยวข้องว่าด้วยราชทูตสยาม



เมื่อมิถุนายนปีนี้เอง ที่ศาสตราจารย์ Choi Byong-hyon แห่ง Honam University ได้ตีพิมพ์ผลงานแปลตัวบททางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากของเกาหลีขึ้นมา คือ จดหมายเหตุในรัชกาลพระเจ้าแทโจ (The Annals of King T'eajo) นับว่าเป็นการแปลพงศาวดารเกาหลีของราชสำนักออกมาครั้งแรกในโลกภาษาอังกฤษก็ว่าได้ (ต้นฉบับเป็นภาษาจีน และมีฉบับภาษาเกาหลีแปลอยู่แล้วสองสำนวน ซึ่ง ศ.ชเว พยอนฮยอน ก็ดูทั้งสามฉบับ) ผมติดตามข่าวและตั้งตารอมานาน แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสซื้อแฮะ เพราะยังมีงบไม่พอ วันนี้ได้ไปคิโนะ แล้วหยิบมาเปิดดู (หนาเป็นพันหน้า) บังเอิญเจอคำว่า Thailand ในนั้นเฉย ผมเลยไปดูที่ index แล้วพบว่ามีการพูดถึง Siam หรือ Thailand ในฉบับแปลนี้อยู่หลายจุด เลยอ่านๆแล้วก็กะแปลไว้ใช้ทำบทความในอนาคต แต่ที่แน่ๆก็คือ ทำให้รู้ว่า ทางอุษาคเนย์นี่เคยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโชซอนมาแล้วตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าแทโจ (King Taejo) ซึ่งเป็นรัชกาลแรกของราชวงศ์โชซอนเลยทีเดียว 


เมื่อได้อ่านๆแล้ว ผมพบว่า ในช่วงเวลาของบันทึกจดหมายเหตุนี้ (ค.ศ.1392-1398) มันยังตรงกับช่วงสุโขทัยแฮะ แต่เนื่องจากไม่อยากนับแบบ ปวศ.รัฐ ผมเลยไม่แน่ใจว่า ราชทูตสยามที่ไปยังแผ่นดินโชซอนนั้น เป็นคนสุโขทัย หรือคนขอม หรือคนในรัฐจารีตไหนในแถบอุษาคเนย์กันแน่? เพราะในตัวบทเรียกว่า "ซอม-นอ-กุก" (Seomnoguk) ซึ่งเป็นเสียงเกาหลีที่ใช้อ่านตัวจีน คือ คำว่า  暹羅國 (จีนกลาง: เสียนหลั่วกว๋อ , จีนแต้จิ๋ว: เสี่ยมล่อก๊ก) ซึ่งเป็นคำที่เกิดจากการเอาคำว่า เสียน 暹 กับคำว่า หลัว  羅 มารวมกัน ผมคิดไปว่า (หมายถึง ไม่มีข้อมูลหรือพื้นเพ ปวศ.แถวอุษาคเนย์เลยครับ) "เสียน" นี่ก็คือ "เสียม/สยาม" ส่วน "หลัว" นี่น่าจะมาจากคำว่า "ละวะ/ละโว้/ลั๊วะ" อะไรเทือกนั้นแฮะ ผมไม่แน่ใจว่าสุโขทัยเคยถึงกับส่งทูตไปเกาหลีเลยหรือ? แปลกมาก (รู้แค่ว่า เวียดนามส่งทูตไปญี่ปุ่นบ่อยมากในช่วงก่อนปิดประเทศยุคเอโดะ หลักฐานคือ จดหมายฝากที่ Fujiwara Seika เขียนให้กองเรือพ่อค้าญี่ปุ่นไปค้าขายที่อาณาจักรอันนัมนั่นเอง โปรดดู Sources of Japanese Tradition Vol.1 ได้เลย) เลยคิดว่าน่าจะเป็นทูตขอมมากกว่า (ย้ำนะครับว่า ตีความไปโดยไม่มีพื้นความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศแถบๆนี้เลย) เพราะว่า คำเรียก 暹羅 นั้น เป็นคำที่พระจักรพรรดิหงหวู่แห่งราชวงศ์หมิงเป็นคนตั้งขึ้นโดยการรวมคำสองคำที่เคยแยกจากกันไว้ด้วยกัน ประเทศแถวๆนี้ที่ไม่ใช่เวียดนามหรือพม่า (ซึ่งจีนมีคำอื่นเรียกต่างหาก) แต่ก็ไม่ใช่สยามในความหมายปัจจุบันที่หมายถึง "ไทย" แน่ๆ (ศ.พยอนฮยอน แกดันแปลว่า Thailand กับ Siam ว่าเป็นอันเดียวกันด้วยล่ะครับในตัวบทนี้) เลยถูกเรียกว่า 暹羅 (เสียนหลัว) หมดเลย คนจีนโพ้นทะเลที่มาไทยใหม่ๆเมื่อตอนโน้นก็เรียกประเทศไทยว่า "เสี่ยมล๊อ" ซึ่งก็คือคำอ่าน 暹羅 ในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง ราชสำนักเกาหลีเองก็คงเรียกทูตพวกนี้ว่าเสียนหลัว (ซอม-นอ) ตามจีนนั่นเอง

Anyway, จนกว่าจะมีผู้สันทัดกรณีมาอธิบายโดยยกหลักฐานต่างๆมาตีความ ผมก็ไม่มีไรหรอกครับ แค่แปลให้ได้อ่านกันเล่นๆ ให้รับรู้กันว่า คนทางนี้เคยไปถึงเกาหลีตั้งแต่ตอนต้นราชวงศ์โชซอนเลยนะ บ้างก็ได้อยู่ได้รับใช้ที่นั่นเลย อะไรงี้

ทั้งหมดแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แอบๆถ่ายรูปมาดู (ถ่ายเบลออีกต่างหาก คลำแทบตาย ไม่ขออัพรูปลง เผื่อเดี๋ยวโดนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย -*-) สนใจโปรดดูฉบับเต็ม Choi Byonghyon, The Annals of King T'aejo: Founder of Korea's Choson Dynasty (Translated and Annotated).(Harvard: Harvard University Press ,2014)


**************************************


จดหมายเหตุเล่มที่สาม
วันที่สิบหก (คยองอิน) ปีที่สองในรัชกาล (ค.ศ.1393)


สยามส่งคนมายี่สิบคน รวมทั้งขุนนางที่ชื่อ ชาง ซาโด (Chang Sado) ด้วย เขาเป็นผู้ถวายไม้ฝาง (*植物 sappan wood สมัยนั้นจีน เกาหลี ญี่ปุ่นนิยมนำเข้าจากประเทศทางอุษาคเนย์) หนักหนึ่งพันตำลึง และยังถวายเครื่องเทศหนักหนึ่งพันตำลึง รวมทั้งถวายชาวพื้นเมืองสยามอีกสองคนแด่พระราชา พระราชาทรงแต่งตั้งให้ชาวพื้นเมืองสยามนั้นได้เข้าทำงานเป็นราชองครักษ์เฝ้าประตูใหญ่ของพระราชวังหลวง


(p. 277)

___________________________________________

จดหมายเหตุเล่มที่หก
วันที่ห้า (อีมิน) เดือนที่เจ็ด ปีที่สามในรัชกาล (ค.ศ.1394)


[...] คณะทูตจากอาณาจักรสยาม (ซอมนอกุก) รวมทั้งชาง ซาโด ได้กลับมาถึงและรายงานว่า "ในเดือนที่สิบสองของปีกลายนั้น พวกเราและแพฮู (Pae Hu) ได้ไปถึงญี่ปุ่น ราชทูตโชซอนได้กระทำการเข้าเฝ้าคารวะอย่างสุภาพ (Heoryesa ฮอรเยซา) แต่เราถูกดักซุ่มโจมตีจากพวกกองโจร พวกมันปล้นเอาของกำนัลและสัมภาระทั้งหมดไป หากพระองค์ทรงเตรียมกำปั่นไว้ให้เรา เราก็ปรารถนาจะกลับสู่ประเทศของเราให้เร็วที่สุดพร้อมๆกับตอนสิ้นฤดูหนาว" จากนั้นพวกราชทูตก็ถวายดาบ เครื่องเกราะ เครื่องทองแดงบางชิ้น และทาสผิวดำสองคนแด่พระราชา


เมื่อพระราชาทรงรับฟังข้อราชกิจยามเช้าแล้ว ทรงบัญชาให้กรมพิธีการแต่งตั้งคณะทูตจากสยามให้ได้เข้าร่วมรับฟังในการว่าราชกิจยามเช้าร่วมกับเหล่าขุนนางของประเทศเราด้วย 

(p. 412)

___________________________________________

จดหมายเหตุเล่มที่หก
วันที่เจ็ด (คับชุล) ปีที่สามในรัชกาล (ค.ศ.1394)


พระราชาทรงเรียกตัวเจ้ากรมราชเลขาธิการ ฮันซองคยอง และทรงส่งเขาไปยัง ศาลาชองซิมจองและตรัสให้เขาทำการบรรยายในหัวข้อ เนื้อหาเพิ่มเติมว่าด้วยตำราต้าเสวีย (Extended Meaning of the Great Learning)

พระราชาทรงแต่งตั้งชาง ซาโด (Chang Sado) ชายชาวสยาม ให้เป็นหัวหน้าหน่วยรับรองอาคันตุกะต่างแดน (Office of Guest Affairs) และนายชิน ออนซัง (Chin Onsang เป็นราชทูตจากชะวา อินโดนีเซีย) ให้เป็นหัวหน้าหน่วยประจำกองดาราศาสตร์และอุตุนิยม (Astronomical and Meteorological Observatory)


(p. 425)

___________________________________________

จดหมายเหตุเล่มที่สิบ 
วันที่สิบเอ็ด (พยองอิน) ปีที่ห้าในรัชกาล (ค.ศ.1396)


อี ชายอง (Yi Chanyong) ได้กลับมาจากญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านั้น เขาได้เคยไปสยามในฐานะล่ามมาก่อน โดยไปด้วยกันกับราชทูตแพฮู (Pae Hu) ผู้เป็นรองหัวหน้าหน่วยรับรองอาคันตุกะ เพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูตของโชซอนกับสยาม เมื่อนั่งกำปั่นขากลับมานั้น เขาได้ถูกจับตัวโดยพวกโจรสลัดญี่ปุ่นแถวน่านน้ำเขตนาจู (Naju) ที่มณฑลชอลลา (Cholla Province) พร้อมๆกับราชทูตสยามนามว่า อิม ทึกชาง (Im Tukchang) และคนอื่นๆ ทุกคนที่ถูกจับได้นั้นถูกสังหารเสียสิ้น เว้นแต่ชายอง ชายองได้ถูกจับตัวไปญี่ปุ่น และได้กลับมาที่นี่แล้วในบัดนี้


(p. 594)

___________________________________________

จดหมายเหตุเล่มที่สิบเอ็ด
วันที่ยี่สิบสาม (อุลซา) ปีที่หกในรัชกาล (ค.ศ.1397)


[...] เมื่ออิม ทึกชาง (Im Tukchang) ราชทูตจากสยามและคณะผู้ติดตามทั้งห้าคนได้กลับมาถึงจากการหนีการคุมขังที่ญี่ปุ่นได้แล้ว พระราชาทรงประทานเครื่องอาภรณ์ให้แก่บุคคลทั้งสี่ รวมทั้งทึกชาง และข้ารับใช้ของเขาอีกสองคนด้วย

(p. 669)


____________________________________________


ชื่อแปลกๆอย่าง ชาง ซาโด (Chang Sado) หรือ อิม ทึกชาง (Im Tukchang) นี่ผมคิดว่า น่าจะเป็นการออกเสียงตัวอักษรจีนเป็นเสียงเกาหลี ฉะนั้นถ้าเราทราบตัวจีนที่เป็นชื่อก็น่าจะใกล้เคียงกว่า (เสียงจีนกลางที่ออกเสียงชื่อทูตสยามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จัดว่าใกล้เคียงกับเสียงไทยพอสมควร) 

ป.ล. เน้นย้ำนะครับว่า อันนี้แปลให้ได้อ่านเล่นๆกันเฉยๆ ไม่ใช่งานวิชาการเด้อ -*-

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น