หมิ่งสื่อ (明史 ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง) : ว่าด้วยเหล่านักปรัชญาลัทธิขงจื่อสมัยหมิง

หมิ่งสื่อ (ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง) หมวดชีวประวัติ (Biographies 列傳) บทที่ว่าด้วยบัณฑิตลัทธิขงจื่อ (Confucian Scholars 儒林 [1])
***คัดเลือกส่วนที่แปลมาจาก Hellmut Wilhelm, On Ming Orthodoxy, Monumenta Serica 29 / 1970: 1-26, pp, 3-5. ต้นฉบับที่แปลไทยนี้นำมาจาก http://chinesestudies.ucsd.edu/mingstudies/bio/conscholars.html (last accessed 11/04/2016)
นับตั้งแต่ซือหม่าเชียน (Ssu-ma Ch’ien) และปานกู้ (Pan Ku)[2] ได้บัญญัติเรื่องราวที่ครอบคลุมเกี่ยวกับพวกบัณฑิตลัทธิขงจื่อในช่วงการผงาดขึ้นของราชวงศ์ฮั่นนั้น ทั้งสองท่านได้บรรยายถึงวิถีทางที่พวกบัณฑิตขงจื่อได้ปลูกฝังและทำให้ศิลปะของการศึกษาคัมภีร์โบราณเป็นที่กระจ่างชัด และบรรยายถึงว่าราชสำนักได้เผยแผ่และอุปถัมภ์สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อที่บัณฑิตพวกนี้จะได้มาออกนโยบายการปกครองต่างๆของยุคได้ บรรดานักประวัติศาสตร์ยุคหลังต่างก็ถือตามธรรมเนียมการบันทึกเรื่องพวกบัณฑิตขงจื่อนี้สืบมาและเขียนถึงเรื่องราวของพวกเขาไว้หลายบทเพื่อบรรยายว่าพวกบัณฑิตเหล่านี้มีวิธีรับและสืบทอดคัมภีร์โบราณมาอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นการสถาปนาจารีตประเพณีว่า นี่คืออาชีพเดียวของบัณฑิตพวกนี้ที่สืบต่อๆกันไปเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ่งนั้น สายจารีตเดิมที่ศึกษาวิถีทาง (Orthodox tradition / 道學 ซึ่งเป็นสายของจูซี) และเหล่าบัณฑิตขงจื่อนั้นล้วนแต่อยู่ในสายจารีตที่ศึกษาเพื่ออธิบายว่าตำราอีลั่วยวนหยวน (伊洛淵源)[3] คือสิ่งที่ถูกต้องที่สุดเพียงสิ่งเดียวที่ได้รับและสืบทอดระบบระเบียบของบรรดาปิตาจารย์ผู้ก่อตั้งลัทธิขงจื่อมา และเพื่ออธิบายว่า การตีความวิถีทางของโลกนี้กับจิตใจของมนุษย์นั้นสูงส่งกว่าหนทางแบบอื่นๆ เพื่อที่ว่างานเขียนต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมายของพวกเขานั้นจะไม่มีเล่มใดถูกโละทิ้ง
พระจักรพรรดิหมิงไท่จู่ทรงมีพื้นเพเดิมมาจากการเป็นสามัญชนและทรงก้าวขึ้นมาทำให้ใต้หล้าสงบสันติ ช่วงเวลานั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่อำนาจฝ่ายบู๊ (ทหาร) นั้นสูงสุด อย่างไรเสีย พระองค์ก็ทรงเรียกหาให้บรรดาบัณฑิตขงจื่อผู้มีชื่อเสียงให้มาถกเถียงกับฝ่ายบู๊ด้วยคำถามทางจริยศาสตร์ต่างๆ ทรงให้บัณฑิตพวกนี้มาอธิบายศิลปะในการปกครองบ้านเมือง เพื่อที่จะได้สถาปนาการอบรมปลูกฝัง (Indoctrination / 教化) เพื่อที่จะได้เป็นแบบแผนปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบที่ยิ่งใหญ่ของทั้งราชวงศ์สืบไป และแม้กระทั่งเดี๋ยวนี้ เมื่อพระปรีชาสามารถ (ของพระจักรพรรดิ) ทรงได้ชัยในการถกเถียง งานเขียนของบรรดาบัณฑิตขงจื่อก็หาได้ปราศจากคุณความดีไม่ ในการสถาปนาระบบการสอบเข้ารับราชการเพื่อเฟ้นหาบัณฑิตผู้เลิศเลอนั้น การเขียนข้อสอบเพื่ออธิบายตำราและคัมภีร์โบราณของลัทธิขงจื่อนั้นมาเป็นอันดับแรก และในยุคสมัยอันสงบสุขที่เจริญรอยตามการศึกษาของฝ่ายบุ๋นก็ได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ขุนนางชั้นสูงจำนวนมากที่ได้เข้ารับราชการผ่านการสอบเข้ามานี้มีจำนวนมากมายราวกับป่าไม้และมีตำแหน่งอันสูงเกียรติในราชสำนัก
จากนั้น ในรัชสมัยอิงจง[4] เซวียซวน (薛瑄) จากเหอจิน (河津) ได้ถวายคำแนะนำด้านการปกครองบนหลักการของลัทธิขงจื่อ และแม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางก็ตาม เขาก็ยังได้รับการนับถือจดจำในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดด้วยเหตุว่าเขาเป็นผู้มีจริยวัตรอันสะอาดสะอ้านและเป็นผู้อุทิศตนให้กับการร่ำเรียน อู๋หยี่ว์ปี้ (吳與弼) ก็ได้รับการแนะนำในฐานะบัณฑิตขงจื่อผู้มีชื่อเสียง และโอรสแห่งสวรรค์ (หมายถึงพระจักรพรรดิ) ก็ทรงพระราชทานเบี้ยหวัดให้เขาด้วย เขาได้ละทิ้งการประกอบพิธีเซ่นไหว้ประจำวัน และได้รับการทรงเรียกให้ไปเข้าเฝ้าว่าราชการต่อหน้าพระพักตร์ จากการเข้าเฝ้าหน้าพระพักตร์นี่เองที่ทำให้ชื่อเสียงของอู๋แผ่ขยายไปไกลและชื่อเสียงของเขาก็เริ่มไปไกลเกินกว่าที่เป็น จากช่วงเวลานั้นเอง ที่การความสำคัญของระบบการสอบเข้ารับราชการเพิ่มสูงขึ้น และการร่ำเรียนศึกษาแบบลัทธิขงจื่อก็ค่อยๆเสื่อมถอยลงทีละนิด โดยเริ่มต้นที่เฉินเซี่ยนจาง (陳獻章) การประกอบพิธีเซ่นไหว้พิเศษ (เพื่อให้ความเคารพแก่บรรดานักปราชญ์ขงจื่อ) ก็ถูกยกเลิก
เหตุว่าบรรดาบัณฑิตขงจื่อในยุคต้นราชวงศ์หมิงล้วนแล้วแต่เป็นผู้สืบทอดคำสอนของสำนักจูซี คำสอนต่างๆของสำนักนี้ที่พวกเขาสืบทอดมาจึงไม่เคยถูกบิดเบือนเฉไฉ เจ๋าตวน (曹端) และหูจวีเหริน (胡居仁) ได้เดินรอยตามสายธารนี้อย่างฉลาด ยอมรับในหลักคำสอนอย่างเคารพนบนอบ และยอมรับในจารีตดั้งเดิมของเหล่าบัณฑิตขงจื่อสายจูซีโดยไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ การแบ่งแยกแตกนิกายในหมู่บัณฑิตขงจื่อเริ่มต้นขึ้นที่เฉินเซี่ยนจางและหวังโส่วเหริน (王守仁)[5] พวกบัณฑิตที่นับถือเฉินเซี่ยนจางว่าเป็นบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณ ถูกเรียกขานว่า สำนักเจียงเหมิน (江門) พวกนี้เดินอยู่บนวิถีทางเดียวและจารีตธรรมของสำนักนี้ก็ไปได้ไม่ไกลนัก ส่วนพวกบัณฑิตที่เดินตามทางของหวังโส่วเหรินและนับถือหวังโส่วเหรินเป็นบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณ ถูกเรียกขานกันว่า สำนักเหยาเจียง (姚江) พวกนี้สถาปนาหลักการต่างๆของตนเองขึ้นมาใหม่และหันหลังให้กับคำสอนของจูซี ศิษย์สำนักนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วทุกหนแห่งในใต้หล้าและจารีตธรรมของสำนักนี้ก็สืบทอดต่อไปเกินร้อยปี ยิ่งหลักคำสอนของพวกนี้แผ่ขยายมากขึ้นเท่าใด บัณฑิตสำนักนี้ก็ยิ่งชั่วร้ายมากขึ้น นับตั้งแต่รัชสมัยเจียจิ้งและรัชสมัยหลงชิ่ง (ค.ศ.1522-1572) พวกที่ยังคงกระตือรือร้นเชื่อมั่นในคำสอนสายจารีตเฉิง-จู[6] และยังไม่ถูกทำให้วอกแวกหลงผิดโดยคำสอนนอกรีตนี้ มีอยู่น้อยนัก โดยสรุปแล้ว บัณฑิตขงจื่อในยุคราชวงศ์หมิง ที่เดินตามการชี้นำของสำนักอีลั่วยวนหยวนและยังคงสำรวจตรวจสอบความลับของธรรมชาติและชะตากรรมของมนุษย์ ได้จงใจเปิดประตูต้อนรับวิถีทางอันเบี่ยงเบนอันเป็นผลมาจากความผิดพลาดเล็กๆ ยิ่งพวกเขาพากันเดินไปไกลจากสัจจะมากขึ้นเท่าใด ความผิดบาปอันนี้ก็ถูกสืบทอดและซ้ำรอยไปเรื่อย ส่วนเหล่าผู้ที่ชำนาญในจารีตดั้งเดิม (หมายถึงสำนักจูซี) หาได้มีแม้แต่คนเดียวที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญจริงๆในช่วงเวลากว่า 270 ปี และการร่ำเรียนศึกษาแบบจารีตดั้งเดิมนี้ก็ไม่อาจประณีตเทียบเท่าสมัยฮั่นหรือสมัยถังได้เลย การจดจ่ออยู่กับมโนทัศน์เรื่องธรรมชาติของมนุษย์และเหตุผล (หลี่ 理?) พวกเขาจึงยังคงสืบทอดกากเดนแห่งสมัยซ่งและสมัยหยวนต่อมา เมื่อมีผู้วิจารณ์ว่า “ยามที่ระบบการสอบเข้ารับราชการรุ่งเรืองขึ้น การร่ำเรียนศึกษาแบบลัทธิขงจื่อกลับเสื่อมถอยลง” คำพูดนี้ไม่ได้ฟังขึ้นหรอกหรือ?
--------------------------------------------------
Endnote:
[1] คำว่า 儒林 แปลตามตัวอักษรว่า “พงไพรของพวกขงจื่อ” ซึ่งเป็นการให้ภาพบัณฑิตขงจื่อว่ามีมากมายดุจป่าดงพงไพร ซึ่งจะทำให้เห็นภาพเมื่ออ่านพงศาวดารชิ้นนี้ด้วย
[2] ปานกู้ (班固; ค.ศ.32–92) นักประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ผู้ประพันธ์ตำราฮั่นซู (Book of Han)
[3] อีลั่วยวนหยวน (伊洛淵源) หรือ "ต้นกำเนิดและแหล่งที่มาของแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่ว" เขียนโดยจูซี นักปรัชญาขงจื่อผู้ยิ่งใหญ่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เป็นงานเขียนที่บันทึกการถกเถียงทางปรัชญาของโจวตุนอี๋ (周敦頤) เฉิงเฮ่า (程顥) เฉิงอี๋ (程頤) เส้ายง (邵雍) และครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ รวมทั้งมิตรสหายและศิษย์ของพวกเขา และว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ด้วย เนื่องจากนักปรัชญาขงจื่อเหล่านี้ล้วนอาศัยอยู่ที่เมืองลั่วหยาง (洛陽 ปัจจุบันคือเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน) และที่เมืองนี้มีแม่น้ำสองสายชื่อแม่น้ำอี (伊水) และแม่น้ำลั่ว (落水) ไหลมาบรรจบกัน จึงเป็นที่มาของชื่องานเขียนชิ้นนี้
[4] รัชสมัยอิงจง (英宗) หรือรัชสมัยของพระจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (the Zhengtong Emperor) เป็นพระจักรพรรดิรัชกาลที่ 6 (ครั้งแรก) และ รัชกาลที่ 8 (ครั้งที่สอง) แห่งราชวงศ์หมิงที่ปกครองจีนตั้งแต่ปี ค.ศ.1435-1449 กับ ค.ศ.1457-1464
[5] ชื่อจริงของหวังหยังหมิง (王陽明 / Wang Yangming)
[6] หมายถึง เฉิงอี๋ เฉิงเฮ่า และ จูซี

ความคิดเห็น