สรุปบทความ "ปรัชญาว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมืองของชองโดจอน" โดย ฮันยองอู (ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล)



ศ.ฮัน เริ่มด้วยการบอกภูมิหลังและบริบทของสภาพสังคมเกาหลีช่วงปลายราชวงศ์โครยอ ว่าอะไรเป็นเหตุให้ชนชั้นบัณฑิตลัทธิขงจื่อใหม่เกิดขึ้นมาและก้าวขึ้นมาสู่อำนาจจนล้มล้างราชวงศ์โครยอได้หมด ได้แก่
- ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ดิน และการเก็บภาษีไม่เป็นผล
- การรุกรานโครยอของกองทัพโจรโพกผ้าแดงจากจีนและโจรสลัดญี่ปุ่นยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย ประชาชนจำนวนมากถูกฆ่าตาย
- พุทธศาสนา พระ ชนชั้นสูงเป็นพวกเดียวกัน คือ มีที่ดินมากมายและเก็บภาษีคนจน
- ชนชั้นล่าง โดยเฉพาะชาวนา ต้องจ่ายข้าวสาร "กึ่งหนึ่ง" (50% ไอ่สัส เยอะเว่อร์) ของทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวได้ให้เจ้าที่ดินและราชสำนักโครยอ
- ชนชั้นบัณฑิต (ซาแดบู) ซึ่งมาจากชนชั้นกลางค่อนไปสูง มองเห็นปัญหานี้และพยายามร่วมมือกับชนชั้นล่าง และพวกทาสในการโค่นล้มระบอบโครงสร้างทางสังคมแบบนี้ และบานปลายจนต้องล้มราชวงศ์โครยอลง และสถาปนาราชวงศ์ใหม่ (ราชวงศ์โชซอน) มาแทน
- อย่างไรก็ดี ศ.ฮันยองอู มองว่า ชนชั้นปกครองใหม่ของราชวงศ์ใหม่ล้มเหลวในการทำลายระบบชนชั้นและระบบทาส
- รายละเอียดของภารกิจของชองโดจอน เป็นไปตามที่ปรากฏในซีรีส์ Six Flying Dragons เสียมาก (คือซีรีส์เอาตรงนี้ไปทำน่ะแหละ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขามีความสามารถทั้งทางบุ๋นและการบริหารจัดการอาณาจักรใหม่ได้ดียิ่ง
- ศ.ฮันมองว่า แนวคิดของชองโดจอนนั้นมีรากฐานแบบประชาธิปไตย โดยอ้างอิงจากงานเขียนของชองเอง ซึ่งมองว่าผู้ปกครองและขุนนางเป็นแค่ผู้ที่รับใช้สวรรค์ผ่านการดูแลปากท้องและปกป้องประชาชน มิใช่เจ้าของแผ่นดิน แต่ประชาชนคือเจ้าของแผ่นดินที่แท้จริง (แต่ส่วนตัวคิดว่า เรื่องโยงประชาธิปไตยนี่ไม่ค่อยเชื่อว่ะ เพราะ "ประชาธิปไตย" ที่เราในยุคนี้เข้าใจกับ "แนวคิดทางการเมืองที่มีประชาชนเป็นรากฐาน" แบบจีนนี่มันคนละอันกันเลย แม้จะใกล้เคียงกันก็ตาม แต่ในแง่รายละเอียดนี่ต่างกันลิบลับ)
- ชองโดจอนมองว่า "มนุษยธรรม" (เหริน 仁 / benevolence) นั้นมีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน แต่ไม่ได้แปลว่าเหรินจะถูกทำให้เป็นจริงในสังคม เพราะมนุษย์เองก็มี "อารมณ์ดิบตามธรรมชาติ" (temperament) ที่แฝงมาเมื่อถือกำเนิดมาบนโลกด้วยกันทั้งนั้น แม้ธรรมชาติดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ มีเหริน หรืออะไรพวกนี้จะดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ แต่มนุษย์ก็มีอารมณ์ดิบตามธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้มนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น มีคนดี คนเลว คนโง่ คนฉลาด ฯลฯ นี่เองคือสาเหตุที่ทำให้บางครั้งเกิดอาชญากรรมขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามหลักปรัชญาขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) เชื่อว่า #ความชั่วร้ายเหล่านี้ของมนุษย์สามารถได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องได้ ถ้ามนุษย์คนนั้นๆสมัครใจที่จะพยายามทำให้ธรรมชาติดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ของตนชัดเจนขึ้นมาได้ โดยผ่านการขัดเกลาจริยธรรมของตนเอง (self-cultivation in morals)
- "เหริน" มีความสำคัญ ไม่เพียงแต่เป็นปทัสถานทางศีลธรรม (moral norm) เท่านั้น หากแต่สามารถทำให้เป็นปทัสถานพื้นฐานทางการเมืองได้ด้วย (fundamentally political norm) เพราะการเมืองไม่เคยพ้นไปจากเรื่องเชิงจริยศาสตร์เลย (การเมืองต้องมีคำถามเรื่องดี-ชั่วเสมอ) การมีชีวิตทางจริยธรรมนั้นเริ่มต้นที่ปัจเจกบุคคล แต่ขอบเขตของจริยธรรมทางการเมืองนั้นจะต้องขยายต่อไปทั้งสังคมด้วย โดยแนวคิดของปรัชญาขงจื่อที่ว่า #การเมืองนั้นคือกระบวนการในการแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเองก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อผิดพลาดให้คนอื่นๆทีหลัง (Politics is the process of correcting oneself first and then correcting others.)
- การเมืองที่วางรากฐานอยู่บนเหรินคือการเมืองที่มีมนุษยธรรมและมีการปกครองที่ทรงธรรม เหริน (Benevolence) จึงเป็นแก่นสารของการเมืองการปกครอง และความรักในเพื่อนมนุษย์ (love) คือการทำให้มนุษยธรรมนั้นปรากฏเห็นชัด ฉะนั้นการเมืองที่มีเหรินจึงควรถูกเติมเต็มด้วยความรักในเพื่อนมนุษย์ แก่นของการเมืองที่มีเหรินจึงคือการ "รักและรับใช้ประชาชน"
- ศ.ฮันยองอู แจกแจงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นบัณฑิตขงจื่อตามทัศนะของชองโดจอนไว้ดังนี้

  1. บัณฑิตขงจื่อจะต้องมีความรู้เชิงลึกในด้านธรรมชาติ เช่น ดาราศาสตร์ การทำปฏิทิน การแพทย์แผนจีน ภูมิศาสตร์ และการทำนายทายทัก เพราะสิ่งเหล่านี้เกี่ยวโยงกับสังคมแบบเกษตรกรรม เป็นการช่วยให้ประชาชนทราบวันเวลาที่ควรทำเกษตรและเก็บเกี่ยว ฤดูกาลต่างๆ และช่วยป้องกันการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ (เช่น การรู้ช่วงเวลาน้ำหลากของปี)
  2. บัณฑิตขงจื่อสมควรทำให้จริยธรรมต่างๆนั้นเป็นเรื่องเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ทั้ง 5 ในสังคมมนุษย์ (五倫)
  3. บัณฑิตขงจื่อทั้งหลายต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ ต้องรับรู้ความเป็นไปของโลก เพราะอักษรก็ถูกประดิษฐ์มาให้ใช้เขียนอ่านแล้ว ต้องเรียนรู้เรื่องธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีและไม่ดี รู้ประวัติของผู้ปกครองที่มีชื่อเสียง รู้กำเนิดของความเป็นอารยะและจารีตพิธีกรรม รู้เรื่องการปกครองและการลงอาญา และต้องรู้เรื่องราวของนักปราชญ์ในโบราณกาล
  4. บัณฑิตขงจื่อจะต้องศรัทธาในปรัชญาลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) ว่าเป็นแสงสว่างแห่งปรีชาญาณ ควรเรียนรู้ปรัชญาเหล่านี้และค้นหาวิถีทางในชีวิตประจำวัน และต้องขจัดคำสอนผิดๆอย่างคำสอนในศาสนาพุทธและลัทธิเต๋าออกไป
  5. บัณฑิตขงจื่อทั้งปวงต้องเป็นนักการศึกษาและเป็นผู้รู้หนังสือ ต้องถือว่าการช่วยสอนอนุชนรุ่นหลังเพื่อให้เกิดความผาสุกแก่สังคมนั้นเป็นภารกิจพึงกระทำ แม้นจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังทำภารกิจนี้ต่อไปได้ผ่านการทิ้งงานเขียนต่างๆไว้เบื้องหลัง
  6. สุดท้าย บัณฑิตขงจื่อทั้งหลายจะต้องพลีกายเป็นมรณสักขีเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้องขัดแย้งกับผู้ปกครองที่ทรงอำนาจซึ่งกำลังใช้อำนาจปกครองไปในทางที่ผิด ต้องถือนักปราชญ์ทั้งหลายในโบราณกาลเป็นแบบอย่าง และสมควรไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมทั้งหลาย แต่ต้องเสียสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องครรลองธรรม (อี้ 義 / Righteousness) อยู่เสมอ
- ชองโดจอนสนับสนุนให้มีการศึกษาโดยกว้างขวางในหมู่ผู้รู้หนังสือ โดยถือเป็นนโยบายของรัฐ (อาณาจักร) ที่จะต้องมีสถานศึกษาท้องถิ่นด้วย (แต่ความพยายามนี้จะไม่ได้ผล เพราะท้ายสุดแล้ว นโยบายนี้ซึ่งอีซองกเยปฏิบัติตามจะเป็นหมันไป เพราะสถานศึกษาเอกชนในรูปแบบ 書院 จะโด่งดังกว่า)
- ชองสนับสนุนการสอบรับราชการ (การสอบควากอและการสอบจินซา) ซึ่งรับอิทธิพลมาจากจีน (การสอบเค่อจวี่และการสอบจิ้นซื่อ) เพื่อสรรหาผู้มีความสามารถมาทำงานราชการ มากกว่าจะระบบเดิมแบบโครยอที่ตำแหน่งขุนนางนั้นสืบทอดผ่านทางสายเลือกของชนชั้นสูง ทำให้ผู้มีความสามารถมากมายที่อยู่นอกชนชั้นนี้ ไม่ได้รับโอกาสในการบริหารจัดการบ้านเมือง
- ชองออกแบบระบบการปกครองไว้ให้กษัตริย์มีอำนาจจำกัด โดยให้อำนาจส่วนใหญ่อยู่ที่มือของเสนาบดีสภา เพื่อมิให้พระราชาใช้อำนาจอย่างไม่มีจำกัด การออกราชโองการทั้งหลายจะต้องมีความเห็นชอบของอัครมหาเสนาบดีด้วยเสมอ (รูปแบบนี้รับมาจากจีนสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งราชโองการจะต้องมีทั้งตราราชลัญจกรของฮ่องเต้ และตราประทับของอัครมหาเสนาบดีกำกับด้วย)
- ท้ายสุด เรื่องที่ชอบมากๆก็คือ ชองโดจอนเสนอให้มี พื้นที่ในการประท้วง (Avenue of Remonstrance) ให้สามัญชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) เรื่องการบ้านการเมืองได้ โดยชองโดจอนยกตัวอย่างของราชันย์ปราชญ์ในคติโบราณของจีนอย่างพระเจ้าเหยา (Yao) และพระเจ้าซุ่น (Shun) ซึ่งใส่ใจกับความเห็นของประชาชนที่มีต่อตนอย่างมาก จนรับรองเสรีภาพในการพูดคัดค้านของราษฎรต่อการปกครองของพระองค์ในกรณีที่ทรงผิดพลาด เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนมีโอกาสได้พูดคุยกัน ชองจึงมองว่าสมควรตั้งตำแหน่ง remonstrators (ขุนนางผู้คัดค้าน) ขึ้นมา โดยไม่ให้มีตำแหน่งสูงเกินไปนัก แต่ให้มีสิทธิพูดคัดค้านต่อพระราชาได้เท่าเทียมกับที่อัครมหาเสนาบดีทำได้ เพื่อให้พวกเขาได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพระราชาและราชสำนักได้เต็มที่ เพื่อให้พระราชาแก้ไขข้อผิดพลาดของพระองค์ได้ โดยพระราชาจะต้องเคารพและมีขันติและอดกลั้นและละเว้นไม่ปลดขุนนางผู้คัดค้านนี้ออกจากตำแหน่ง เพื่อให้พวกเขาสามารถทูลถวายคำแนะนำต่อพระองค์ได้ และเนื่องจากความรับผิดชอบของตำแหน่งขุนนางผู้คัดค้านนี้สูงมาก ชองโดจอนจึงเสนอว่า จะต้องคัดเลือกจากบัณฑิตผู้รู้หนังสือที่มีความสามารถอันดับต้นๆของประเทศ และบัณฑิตเหล่านั้นจะต้องมีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวมากพอในการกล้าโต้เถียงว่าอะไรถูกและผิดเสมอๆ
แน่นอนว่า นโยบายทั้งหมดนี้แทบไม่ได้รับการปฏิบัติเลยหลังจากชองโดจอนถูกสังหารไป และอีพังวอนขึ้นครองราชย์ต่อ
__________________
สนใจโปรดอ่านบทความฉบับเต็มได้ใน Han Yeong-u, "Jeong Do-jeon's Philosophy of Political Reform", in Korean Philosophy: Its tradition and Modern Transformation. (Seoul: Hollym International Corp., 2004)

ความคิดเห็น