นะกะเอะ โทจุ (Nakae Tōju): ปราชญ์ผู้ยึดถือ "ความกตัญญู" มากกว่า "ความจงรักภักดี"



นะกะเอะ โทจุ (中江 藤樹 ; Nakae Tōju)


นะกะเอะ โทจุ (中江 藤樹 ; Toju Nakae) ปราชญ์ลัทธิขงจื่อใหม่ยุคเอโดะ ผู้ยืนหยัดว่า "ความกตัญญู" ต่อบิดามารดานั้นเป็นคุณธรรมที่สำคัญกว่า "ความจงรักภักดี" ต่อเจ้านาย


********************************************


นะกะเอะ โทจุ เป็นบัณฑิตลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) ผู้มีชื่อเสียงจากการยึดมั่นในหลักความกตัญญูว่าเป็นคุณธรรมสูงสุดตามคำสอนของลัทธิขงจื่อ ตามบันทึกประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาของญี่ปุ่นนั้น ถือกันว่า เขาคือนักปราชญ์คนแรกที่สมาทานปรัชญาขงจื่อสาย โอโยเมะ (Ōyōmei เสียงอ่านชื่อจีนของ Wang Yangming ในภาษาญี่ปุ่น) อีกด้วย สำนักปรัชญาที่เขาก่อตั้งคือสายที่เรียกกันว่า สำนักของหยังหมิง (Yōmeigaku 陽明学) แห่งประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งได้ผลิตปราชญ์คนสำคัญอย่าง Kumazawa Banzan ซึ่งเป็นศิษย์ของโทจุด้วย) เหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่กล่าวขวัญมาจนทุกวันนี้ คือเหตุการณ์ที่โทจุละทิ้งตำแหน่งซามูไรประจำแคว้นโอซุ (Ōzu 大洲) เพื่อกลับไปเลี้ยงดูมารดาผู้แก่ชราของตน ณ บ้านเกิดที่แคว้นโอมิ (Ōmi 近江) นั่นเอง .

ตามที่บันทึกไว้ใน "จดหมายเหตุเรื่องท่านอาจารย์โทจุ" (Tōju sensei nenpu 藤樹先生年譜 บันทึกโดย Okada 岡田 ผู้เป็นศิษย์คนหนึ่งของเขา) นั้นกล่าวว่า โทจุยืนหยัดอยู่เสมอว่า ความกตัญญู (孝 kō) นั้นเป็นคุณธรรม (morals) ที่สำคัญกว่า ความจงรักภักดีต่อเจ้านาย (忠 Chū) โดยโทจุตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอายุ 12 ขวบ ดังที่บันทึกไว้ว่า

"มีอยู่วันหนึ่งตอนที่ข้าทานข้าวอยู่ จู่ๆข้าก็คิดถามตนไปว่า 'ข้าวปลาอาหารในแต่ละวันที่กินๆอยู่นี้ ตัวข้าติดหนี้บุญคุณใครกันหนอ?' แล้วข้าก็สรุปได้ว่า แรกสุดเลย นี่เป็นพรอันประเสริฐจากบิดามารดาของข้า ในชั้นต่อมา นี่ก็เป็นพรอันประเสริฐจากท่านปู่ท่านย่าของข้าด้วย และในชั้นท้ายสุด นี่ถือเป็นพรอันประเสริฐที่ได้รับจากท่านเจ้าแคว้นของข้า นับแต่นั้นมา ข้าก็สาบานว่าข้าจะไม่มีวันลืมหนี้บุญคุณที่ข้าได้รับจากพวกท่านเหล่านี้เลย" 

จากข้อความดังกล่าว ศาสตราจารย์ Wai-ming Ng แห่ง Chinese University of Hong Kong จึงตีความว่า โทจุกำลังบอกเราเป็นนัยว่า เขาให้ความสำคัญกับบิดามารดาและปู่ย่าตายาย มากกว่าเจ้าผู้ครองแคว้นนัก อีกทั้งเขายังรู้สึกคุ้นเคยห่วงหาต่อแคว้นโอมิอันเป็นบ้านเกิด มากกว่าแคว้นโอซุซึ่งเป็นแคว้นที่เขาได้ทำงานรับใช้เจ้าแคว้นอีกด้วย เพราะแม้ว่าเขาจะได้รับตำแหน่งเข้ารับใช้เจ้าแคว้นโอซุในฐานะซามูไรลำดับล่างๆของแคว้นนับแต่อายุ 19 ปี แต่ในใจของเขานั้นกลับห่วงหาแต่บ้านเกิดและครอบครัวที่แคว้นโอมิอยู่เสมอๆ

ในอายุระหว่าง 22-25 ปี โทจุละทิ้งหน้าที่ประจำการของตนเพื่อกลับมาเยี่ยมมารดาที่แคว้นโอมิ และขอร้องท่านแม่ของเขาให้ย้ายไปอยู่แคว้นโอซุด้วยกันกับเขาอยู่หลายครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากมารดาของตนเสมอมาเช่นกัน เมื่ออายุได้ 26 ปี โทจุแต่งบทกวีรำพรรณถึงความปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตที่แคว้นโอมิและเพื่ออยู่ดูแลมารดาของตนที่นับวันก็แก่ชรามากขึ้นทุกที ในปี 1634 เมื่ออายุ 27 ปี โทจุจึงตัดสินใจเขียนจดหมายลาพักระยะยาวโดยทูลต่อท่านเจ้าแคว้นโอซุเพื่อไปดูแลมารดา และให้คำสัตย์ว่าจะกลับมารับใช้อีกครั้งหลังจากมารดาของตนสิ้นใจ โดยเขียนไว้ดังนี้ว่า

"นี่เป็นหน้าที่และคุณธรรมของข้าน้อยที่จะต้องดูแลสมาชิกทั้ง 4 ของครอบครัวข้าน้อยเอง [คือ บิดามารดา และปู่กับย่า] แต่มีสามคนที่ได้จากไปนับแต่ข้าน้อยยังเยาว์นัก บัดนี้ เหลือแต่เพียงมารดาของข้าน้อยเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ และท่านก็จำต้องพึ่งพาข้าน้อยที่เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของท่านด้วยขอรับ"

เมื่อไม่มีการตอบกลับใดๆจากเจ้าแคว้นโอซุ ณ จุดนี้เอง โทจุจึงได้ตัดสินใจละทิ้งตำแหน่งซามูไรของตนไปอย่างดื้อๆ โดยการเดินทางออกจากแคว้นโอซุกลับไปยังแคว้นโอมิโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้านาย ที่ทำไปเช่นนี้นั้น โทจุลำบากใจมากในการเลือกระหว่างการรับใช้เจ้านายหรือการกลับไปทำหน้าที่ลูกกตัญญู เพราะโทจุเองก็รู้สึกผิดที่ได้ละทิ้งเจ้านายของตนมา แต่ภาระการดูแลพ่อแม่นั้นสำคัญกว่าในความเห็นของเขา ดังนั้นเพื่อเป็นการไถ่โทษในคราวนี้ เขาจึงทิ้งเงินและข้าวสารที่ได้รับเป็นเบี้ยหวัดรายปีของตนไว้ที่แคว้นโอซุนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตามวินัยของซามูไรและตามกฎหมายของประเทศแล้ว การกระทำของโทจุนั้นถือว่าเป็นความผิดมหันต์และถือเป็นการทำผิดกฎหมายและเป็นการแสดงความไม่จงรักภักดี ตามกฎแล้ว เขาต้องกระทำเซ็ปปุกุ (切腹 การคว้านท้องตนเอง) เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะตามคัมภีร์ฮะงะคุเระ (葉隠 ปี 1716) อันเปรียบเหมือนธรรมนูญชีวิตของซามูไรนั้น ได้ยกย่องว่า ความภักดีต่อเจ้านายนั้นเป็นสิ่งที่สูงค่ากว่าความกตัญญูต่อบิดามารดา ฉะนั้น นอกจากโทจุจะสูญเสียสถานะซามูไรแล้ว หากขัดขืนการจับกุมตามความผิดนี้ เขาก็อาจถูกพิพากษาตัดสินให้ทำเซ็ปปุกุ ซึ่งแปลว่าเขาต้องพบจุดจบนั่นเอง

กระนั้น หลังจากกลับสู่ภูมิลำเนาของตนที่โอมิแล้ว โทจุได้ขายดาบของตนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะไพร่สามัญชน เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการกลั่นเหล้าขาย ปล่อยให้กู้ยืมเงิน และเปิดสำนักเรียนขึ้นเพื่อสอนหนังสือ และได้รับการยกย่องจากผู้คนว่าเป็น "ปราชญ์แห่งแคว้นโอมิ" (近江聖人 ; โอมิเซย์จิน) อีกด้วย

แลกกับการถูกตราหน้าว่าเป็นซามูไรที่ไม่ภักดีและไร้เกียรติแล้ว
โทจุเลือก "ความกตัญญู" ต่อบิดามารดาของตนมากกว่า.

___________________
[บรรณานุกรม]

Wai-ming Ng, "Filial Piety and Loyalty in Tokugawa Confucianism: Nakae Tôju (1608-48) and His Reading of the Xiaojing" in Sino-Japanese Studies Journal (Volume 15, April 2003),

"Toju Nakae" From Wikipedia, the free encyclopedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Toju_Nakae) -- last accessed: 13/08/2014

ความคิดเห็น