โอะงิว โซะไร (Ogyū Sorai) และการกลับไปหาลัทธิขงจื่อดั้งเดิม (2) : เต๋าคือสิ่งสร้างของมนุษย์ มิใช่ของที่มีอยู่ในธรรมชาติ!



หลังจากที่ได้อ่าน "เบ็นโด" ของโอะงิว โซะไร ไปอีกบท ก็พบว่า คำอธิบายของเขาค่อนข้างน่าสนใจไม่เบาเลย ในการวิพากษ์คำสอนของลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) เพื่อกลับไปหาลัทธิขงจื่อดั้งเดิม (True and Original Confucianism) หรือที่เขาเรียกว่า "คำสอนของบรรดากษัตริย์ยุคโบราณและขงจื่อ" ครับ ด้านล่างนี้ คือบทแปลที่ผมแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ตรวจเทียบกับต้นฉบับภาษาจีน (ตัวคันจิที่เขียน) ไปด้วย

เบ็นโด (辨道) บทที่ 4

เต๋าของบรรดากษัตริย์แต่โบราณก็คือเต๋าที่พวกท่านเหล่านั้นพากันสร้างขึ้นมาเอง มันไม่ใช่เต๋าโดยธรรมชาติของฟ้าและดินแต่อย่างใดเลย ข้อเท็จจริงก็คือ บรรดากษัตริย์ในโบราณกาลนั้นทรงรับอาณัติสวรรค์ (天命) มาปกครองใต้หล้า(天下) ปกครองโดยใช้คุณธรรมแห่งปรีชาญาณและความฉลาดเฉียบแหลมอันสูงส่งของพวกท่านเหล่านั้นนั่นเอง ด้วยความมุ่งมั่นของพวกท่านเหล่านั้น พวกท่านจึงได้พิจารณาหน้าที่ของตนในการนำพาสันติสุขและความพึงใจมาสู่ใต้หล้านี้ ดังนั้น ด้วยการทำให้ความแข็งแกร่งทางดวงจิตของตนอ่อนแอลง และใช้มันเพื่อจำกัดความสามารถทางจิตแล้ว พวกท่านได้สร้างเต๋าที่ว่านี้ขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้คนในยุคหลังๆประพฤติได้ถูกทำนองคลองธรรมของเต๋านี้ แล้วฟ้าดินจะเป็นผู้ครอบครองเต๋าเองได้อย่างไรกันเล่า?
 ฝูซี เสินหนง และหวงตี้[1] ล้วนแต่เป็นจอมปราชญ์ สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นนั้นก่อให้เกิดผลอันดีและเพื่อผดุงเต๋าเอาไว้ ภายหลังจากยุคการปกครองของจวนซูกับตี้คู่[2] แล้ว ผู้ปกครองต่อมาก็คือเหยาและซุ่น[3] ตอนนั้นนั่นแลที่จารีตพิธีและดนตรีได้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรก และต่อมาก็มีราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์อิน และราชวงศ์โจว[4] และถึงตอนนี้เองที่เต๋าได้ก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้นอย่างยอดเยี่ยมวิเศษสุดเป็นคราแรก ดังนั้นมันจึงใช้เวลายาวนานนับพันๆปีตลอดจนใช้ความแข็งแกร่งของดวงจิตและความสามารถทางจิตจากปราชญ์หลายๆท่านนี้ก่อนหน้าที่เต๋าจะสัมฤทธิ์ลุล่วงออกมาได้ เต๋าจึงไม่ใช่สิ่งที่จะบรรลุถึงได้โดยน้ำพักน้ำแรงจากตลอดชีวิตของปราชญ์คนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว ดังนั้น แม้แต่ท่านขงจื่อก็เคยกล่าวไว้ว่า "เรียนรู้เต๋าก่อน แล้วจึงเข้าใจเต๋า"[5] จงพิจารณาคำกล่าวนี้เถิด เราได้รับอนุญาตให้พูดว่าฟ้าและดินนั้นครอบครองเต๋าไว้อยู่แล้วโดยธรรมชาติกระนั้นหรือ?
 อย่างที่มีข้อเท็จจริงเขียนไว้ในตำราจงยงอยู่แล้วว่า "เดินตามหนทางของมนุษย์ นั่นแลเรียกว่าเต๋า"[6] และในช่วงนั้นเองที่เหลาจื่อปรากฏตัวขึ้นมาและคัดค้านเต๋าของบรรดาปราชญ์ว่าเป็นเต๋าที่ผิดๆ ดังนั้นท่านจื่อซือ[7] จึงเขียนตำราของท่านขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวทางสำนักหญู (ลัทธิขงจื่อ) จากมุมมองของท่านเอง และท่านยังได้กล่าวไว้อีกด้วยว่า สิ่งที่บรรดากษัตริย์ในโบราณกาลได้รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั้นเรียกว่าเต๋า จื่อซือไม่เคยบอกว่าฟ้าและดินเป็นผู้ครอบครองเต๋าอยู่แล้วโดยธรรมชาติแต่อย่างใดเลยสักนิด ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังไม่เคยพูดด้วยว่า บรรดากษัตริย์แต่โบราณกาลได้เดินตามทิศทางธรรมชาติของมนุษย์โดยไม่ได้ใช้เล่ห์กลอุบาย  
ขอยกตัวอย่างให้ดูว่า เวลาตัดไม้เพื่อมาสร้างพระราชวังนั้น คนตัดก็ต้องรู้จักธรรมชาติของไม้ก่อนแล้วจึง จะนำไม้มาสร้างวังได้ใช่ไหม แต่โดยธรรมชาติของไม้เองนั้น ไม้จะมาเป็นพระราชวังได้อย่างไรกันเล่า?
 ว่ากันโดยรวมแล้ว สิ่งที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติก็คือเต๋าของฟ้าดิน แต่การนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์นั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง พวกบัณฑิตลัทธิขงจื่อในยุคหลังๆนี่แหละที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้เสียเลย ดังนั้นพวกเขาจึงมาพิจารณาไปว่า หลี่แห่งสวรรค์[8] ได้รังสรรค์เต๋าขึ้นมาตามธรรมชาติ แล้วเช่นนี้จะไม่ให้เต๋าไปจบเห่ลงที่คำสอนของเหลาจื่อกับจวงจื่อได้อย่างไรเล่า!


***********************************

บทนี้น่าสนใจมาก เพราะโอะงิว โซะไร (Ogyū Sorai) ได้อธิบายและพยายามจำแนก "เต๋า" ให้ชัดไปว่า เต๋าดั้งเดิมในยุคโบราณนั้น เป็นคนละเต๋าในความหมายของพวกนักคิดลัทธิขงจื่อใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหมิง ในทัศนะของพวกขงจื่อใหม่ เต๋าคือสิ่งที่สวรรค์มอบให้หรือดำรงอยู่ในเชิงอภิปรัชญา แต่สำหรับโซะไรแล้ว เต๋าไม่ใช่ของที่มีโดยธรรมชาติ แต่เป็นของที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ มันถูกสร้างขึ้นโดยบรรดาเมธีกษัตริย์ผู้ชาญฉลาดในยุคโบราณ เต๋าถูกสร้างขึ้นโดยจุดประสงค์ก็เพื่อให้มนุษย์ในยุคหลังดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับสิ่งดีที่ดำรงอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้หลงหายไปไหน เต๋าจึงเป็นเพียง "แบบแผน" ที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมาเท่านั้น ไม่ใช่เต๋าในความหมายของพวกขงจื่อใหม่และพวกลัทธิเต๋าที่ให้คำอธิบายหนักไปในทางอภิปรัชญาจนเกินไป

ในบทนี้ โซะไรยังได้แย้งด้วยการตั้งข้อสังเกตทางอภิปรัชญาอีกด้วยว่า เต๋า (วิถี) นั้นไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์นำมาใช้ (apply) กับสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอีกต่อหนึ่ง โดยเขายกตัวอย่างขึ้นว่า

"ขอยกตัวอย่างให้ดูว่า เวลาตัดไม้เพื่อมาสร้างพระราชวังนั้น คนตัดก็ต้องรู้จักธรรมชาติของไม้ก่อนแล้วจึงจะนำไม้มาสร้างวังได้ใช่ไหม แต่โดยธรรมชาติของไม้เองนั้น ไม้จะมาเป็นพระราชวังได้อย่างไรกันเล่า?" 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตัวอย่างนี้เอง เป็นการ "ตบหน้า" วิธีคิดแบบลัทธิขงจื่อใหม่ในจีนและเกาหลี รวมทั้งญี่ปุ่นยุคเอโดะด้วยว่า ไม่มี "วิถี" (เต๋า) หรือ "แบบแผน" (หลี่) อะไรในธรรมชาติตามที่พวกนี้มักจะเคลมเสมอๆแต่อย่างใด เต๋าหรือแบบแผนใดๆที่มนุษย์นำมาใช้กระทำต่อสิ่งของที่มีในโลกธาตุนี้ จึงเป็น "สิ่งประกอบสร้าง" ของมนุษย์เองทั้งสิ้น เต๋าจึงไม่ใช่ของที่มีในธรรมชาติ และโซะไรยังย้ำหลายจุดว่า เต๋าไม่ใช่สิ่งที่ฟ้าและดินนั้นสร้างหรือครอบครองไว้แต่อย่างใด

และด้วยเหตุนี้เอง ในตอนท้ายของบทนี้ เราจึงเห็นความหงุดหงิดและข้อตำหนิจากโซะไรว่า คำอธิบายเชิงอภิปรัชญาของพวกลัทธิขงจื่อใหม่ (ซึ่งเขากล่าวไว้ในบทแรกๆว่า) เป็นคำอธิบายที่ผิดไปจากคำสอนดั้งเดิมของบรรดาเมธีกษัตริย์และของขงจื่อ และเพราะอธิบายเต๋ากันแบบนี้เอง จึงทำให้เต๋าที่ถูกต้อง เลยผิดเพี้ยนไปอยู่ในมือของพวกลัทธิเต๋า...




[เชิงอรรถขยายความ]


[1] ฝูซี (伏羲) เสินหนง (神農) หวงตี้ (黄帝) คือบรรดาเทพและผู้ปกครองชาวจีนโบราณตามเทพปกรณัม ตามจารีตแล้วเชื่อกันว่า ฝูซี คือผู้สอนชาวจีนในโบราณกาลให้รู้จักการสร้างครอบครัว สอนมนุษย์ให้รู้จักนำวัวซึ่งเป็นสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์ใช้งาน และสอนให้รู้จักการขีดเขียนวาดภาพ เสินหนง คือ ผู้สอนให้มนุษย์รู้จักการนำเมล็ดพันธุ์พืชมาปลูกและสอนให้เก็บเกี่ยวเมื่อถึงฤดูกาล และหวงตี้ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จักรพรรดิเหลือง”) คือ ผู้ปกครองคนแรกที่รวบรวมชาวจีนโบราณมาเป็นเผ่าใหญ่เผ่าเดียว เป็นผู้เริ่มสร้างถนนหนทาง สอนให้มนุษย์รู้จักการดูดวงดาว สอนให้มนุษย์รู้จักเขียนตัวอักษรและบันทึกเรื่องราวต่างๆ สามผู้ปกครองนี้จึงได้รับการยกย่องในลัทธิขงจื่อว่าเป็นผู้สร้างเต๋า (วิถี) ให้กับชาวจีนขึ้นครั้งแรก
[2] จวนซู (顓頊) เป็นผู้ปกครองโบราณตามเทพปกรณัมจีน เป็นหลานชายของหวงตี้ ส่วนตี้คู่ (帝嚳) เป็นโอรสของจวนซู และสืบต่อตำแหน่งผู้ปกครองจากจวนซู
[3] เหยา () และ ซุ่น () คือ ผู้ปกครองโบราณตามเทพปกรณัมจีน ขงจื่อถือเอาเหยาและซุ่นเป็นแบบอย่างของเมธีกษัตริย์ และวิญญูชนในยุคโบราณ
[4] ราชวงศ์เซี่ย () ราชวงศ์อินหรือราชวงศ์ซาง ( หรือ ) และราชวงศ์โจว () คือสามราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน (เดิมจีนมีผู้ปกครองโบราณที่คัดเลือกตามความสามารถ ส่วนระบบราชวงศ์คือการสืบทอดตำแหน่งผู้ปกครองโดยสายเลือด)  นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีขุดค้นพบหลักฐานและบันทึกมากมายในสองราชวงศ์หลัง แต่ไม่เคยพบหลักฐานการมีอยู่จริงของราชวงศ์แรก จึงถือกันว่า ราชวงศ์เซี่ยเป็นเรื่องราวในตำนานมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง
[5] โซะไรนำมาจาก หลุนอี่ว์ 16:9 ที่ว่า “คนเกิดมามีความรู้เอง อยู่สูงสุด คนซึ่งเรียนรู้แล้วมีความรู้ อยู่ถัดมา คนซึ่งถูกบีบคั้นแต่ร่ำเรียน อยู่ถัดไปอีก คนซึ่งถูกบีบคั้นแต่ไม่ร่ำเรียน อยู่ต่ำสุด” (ฉบับแปลของ สุวรรณา สถาอานันท์)
[6] โซะไรนำมาจาก จงยง 1:1:1 ที่ว่า “สิ่งที่สวรรค์ประทานให้เรียกว่าธรรมชาติ ความสอดคล้องกับธรรมชาติเรียกว่าวิถีทาง (เต๋า) ของหน้าที่ ระเบียบแนวทางของวิถีทาง (เต๋า) นี้ เรียกว่า คำแนะนำ” (แปลไทยจากฉบับแปลภาษาอังกฤษของ James Legge)
[7] จื่อซือ (子思) บุตรป๋อหยู่ เขาเป็นหลานชายของขงจื่อ และเป็นผู้เขียนตำราจงยง (中庸) หนึ่งในตำราสำคัญของลัทธิขงจื่อในภายหลัง
[8] หลี่แห่งสวรรค์ (天理) แปลตรงตัวว่า “ระเบียบแบบแผนของสวรรค์” คำว่า “หลี่” () นี้เป็นศัพท์ทางเทคนิคของลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายหลักการทางอภิปรัชญาของโลกตามมโนทัศน์ของลัทธิขงจื่อ เนื่องจากไม่อาจแปลตรงตัวได้ เพราะอาจกินความไม่ครบ จึงขอทับศัพท์ไว้เช่นนี้

ความคิดเห็น