โอะงิว โซะไร (Ogyū Sorai) และการกลับไปหาลัทธิขงจื่อดั้งเดิม (1)
โอะงิว โซะไร (Ogyū Sorai ; 荻生 徂徠) (1666– 1728) |
ว่าด้วย "เบ็นโด" (辨道 : การจำแนกแยกเต๋า) ของโอะงิว โซะไร (Ogyū Sorai) นักปราชญ์ลัทธิขงจื่อในสมัยเอโดะ เจ้าสำนักโคบุนจิ (古文辞 สำนักภาษาและวรรณกรรมจีนโบราณ) ในญี่ปุ่น งานเขียนชิ้นนี้ คืองานเขียนที่อุทิศให้กับการวิพากษ์โจมตีปราชญ์ลัทธิขงจื่อใหม่อย่าง อิโต้ จินไซ (Itō Jinsai) ผู้ยึดมั่นในคำสอนของจูซี (Zhu Xi) เป็นอย่างยิ่ง โดยเขาต้องการชี้ให้เห็นว่า คำสอนของจูซีและบรรดาปราชญ์สมัยราชวงศ์ซ่งนั้นเป็น "สิ่งแปลกปลอม " ต่อลัทธิขงจื่อเพียงใด
โซะไรนับว่าเป็นนักปราชญ์ที่เขียนงานได้ดุเดือดเผ็ดมันมากที่สุดคนหนึ่ง เนื่องจากเขากล้าแม้กระทั่งวิจารณ์นักปราชญ์คนสำคัญในลัทธิขงจื่อใหม่ตัวเบ้งๆอย่าง จูซี ได้ถึงพริกถึงขิง (ถึงขนาดดูถูกสติปัญญาทางภาษาจีนของปราชญ์เหล่านี้กันเลยทีเดียว) เป้าหมายของโซะไร คือการกลับไปหา "ลัทธิขงจื่อที่ถูกต้องดั้งเดิม" (Original and True Confucianism) อีกครั้ง เพราะจากการร่ำเรียนเขียนอ่านตำราปรัชญาจีนและวรรณกรรมจีนโบราณจนแตกฉาก ทำให้เขาพบว่า คำสอนของลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่อยู่ภายใต้การตีความและอธิบายของจูซีนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในคำสอนแบบ (ที่เขาเชื่อว่า) "ดั้งเดิม" เลยสักนิด ดังที่เขากล่าวไว้ในงานเขียน "เบ็นโด" บทที่ 1 ว่า
"...อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การปรากฏขึ้นของงานเขียนของหันยวี่ (韓愈) ในสมัยราชวงศ์ถัง ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทีเดียว หลังจากนั้นพี่น้องสกุลเฉิง (程顥 และ 程頤) ก็ตามมา แล้วต่อด้วยจูซี (朱熹) แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นบัณฑิตที่เปรื่องปราชญ์และล้ำเลิศเพียงใดก็ตามเถิด แต่พวกนี้ก็มิได้คุ้นเคยกับภาษาและวรรณกรรมโบราณเลย ดังนั้น พวกนี้จึงไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจคัมภีร์ทั้งหก (六經) [1] ได้ แล้วก็พอใจอยู่แค่การอ่านตำราจงยง (中庸 ) และตำราเมิ่งจื่อ (孟子) เท่านั้น เพราะงานเหล่านี้นั้นอ่านง่ายๆ... ขอกล่าวเสริมด้วยว่า พวกนี้อ่านวรรณกรรมโบราณภายใต้กรอบของวรรณกรรมร่วมสมัย [หมายถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง] ดั้งนั้นพวกนี้จึงช่างมืดมนนักในการทำความเข้าใจวรรณกรรมประเภทแรก...และเนื่องด้วยผลลัพธ์นี้เอง เราจึงไม่รู้เห็นถึงคำสอนและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องแท้จริงของเหล่ากษัตริย์ในยุคโบราณและคำสอนกับกฏเกณฑ์ของท่านขงจื่ออีกเลย"
เป้าหมายการกลับไปหาลัทธิขงจื่อที่แท้จริงและดั้งเดิม จึงเป็นเป้าหมายที่แปลกแยกไปจากความนิยมของหมู่ปราชญ์ลัทธิขงจื่อใหม่ในจีน เกาหลี และญี่ปุ่นยุคเอโดะโดยสิ้นเชิง (ในยุคเอโดะ ปราชญ์จำนวนมากยังคงเดินตามวิถีทางของจูซีและหวังหยังหมิงอยู่) ความพยายามนี้ จึงถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์พอสมควรเลยทีเดียว [2]
งานเขียนของโซะไรหลายชิ้น ได้รับการตีพิมพ์และนำเข้าไปในประเทศจีนยุคราชวงศ์ชิงในอีก 100 ปีต่อมาหลังจากที่มันถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในญี่ปุ่น และมีบัณฑิตชาวจีนอย่างน้อย 2 คนที่รับรองว่า ภาษาจีนที่โซะไรใช้ในงานชิ้นนี้นั้น งดงาม อ่านยาก และถูกหลักไวยากรณ์ภาษาจีนโบราณอย่างยิ่ง [3]
คราวหน้าจะมาพูดต่อ ว่าโซะไรวิพากษ์จินไซไว้ยังไงบ้าง
_____________________
[เชิงอรรถ]
[1] คัมภีร์ทั้งหก (The Six Classics) คือ คัมภีร์โบราณของลัทธิขงจื่อจากสมัยราชวงศ์โจว ได้แก่ อี้จิง (Classic of Changes) ซูจิง (Classic of Documents) ซือจิง (Classic of Poetry) ชุนชิว (Annals of Spring and Autumn Period) หลี่จี้ (Book of Rites) และ เย่ว์จี้ (Book of Music *คัมภีร์นี้สูญหายไปตั้งแต่เหตุการณ์ "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" ในสมัยราชวงศ์ฉิน ดังนั้น จึงเป็นคัมภีร์ในตำนานเล่มนึงที่ปราชญ์ยุคหลัง ไม่มีโอกาสได้อ่านและศึกษา)
[2] ดังปรากฏข้อวิเคราะห์นี้ใน Chapter XVIII: The Rediscovery of Confucianism โดยเฉพาะในหน่วยย่อย Ogyu Sorai and The Study of The Past ใน "Sources of Japanese tradition" Vol.1 (ed.,Keene, Donald; Tsunoda, Ryusaku; De Bary, William Theodore), (New York : Columbia University Press,1964)
[3] งานชิ้นสำคัญอีกชิ้นของโซไรอย่าง "เบ็นเมะอิ" (辨名: การจำแนกแยกชื่อต่างๆ) ซึ่งเปรียบเสมือนพจนานุกรมศัพท์ต่างๆในลัทธิขงจื่อที่เขาเขียนขึ้นนั้น ได้รับการอ้างอิงอยู่ในงานเขียนของยวี๋เย่ว์ (俞樾) และหลิวเป่าหนัน (劉宝楠) โดยโซไรถูกเรียกว่า 日本物茂卿 โปรดดู Hiraishi, Naoaki and Moriya, Fumiaki., "Ogyu Sorai's Confucianism : an analysis of its modern nature." (Occasional papers in politics and political thought ;no. 1.) (University of Tokyo, Institute of Social Science, 1987)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น