(แปล) จดหมายเหตุรัชกาลแทโจ: ว่าด้วยประวัติของชองโทจอน (Jeong Dojeon / Chŏng Tojŏn)

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีนี้ ผมเป็นหนึ่งในแฟนคลับซีรีส์เกาหลีเรื่อง Six Flying Dragons ชนิดที่ต้องตามดูทุกสัปดาห์ เนื่องจากตัวเองเป็นแฟนคลับของชองโทจอน (Jeong Dojeon) หรือ อาจารย์ซัมบง (Sambong) บัณฑิตขงจื่อคนสำคัญผู้มีส่วนในการทุ่มเทเพื่อโค่นล้มราชวงศ์โครยอลง และสถาปนาราชวงศ์ใหม่อย่างราชวงศ์โชซอนขึ้นมา (ใครที่เคยอ่านบทความอื่นๆก่อนหน้านี้ในบล็อกผม คงพอทราบว่าผมสนใจชองโทจอนมาก่อนหน้านี้แล้ว) ผมรู้จัก อ.ซัมบงคนนี้ครั้งแรกคือตอนได้ดูซีรีส์เรื่อง The Tree With Deep Root ครับ แต่เรื่องนั้นไม่มีตัวละครชองโทจอน เพราะเป็นเรื่องหลังจากที่แกตายไปแล้ว (เนื้อเรื่องดำเนินในรัชสมัยพระเจ้าเซจงมหาราช) แต่กลุ่ม "รากลึกลับ" หรือ "มิลบน" ของแกยังคงทำหน้าที่ต่อ จวบจนเมื่อปี 2014 ก็ได้ดูซีรีส์เรื่อง Jeong Dojeon ซึ่งเป็นซีรีส์ความยาว 50 ตอน ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องของ อ.ซัมบงแกโดยเฉพาะ ผมได้ดูทางช่อง KBS world ซับอังกฤษ (แม้จะได้ดูบ้าง ไม่ได้ดูบ้าง) ก็สนุกดี แต่เมื่อมาถึงปีที่แล้วที่เรื่อง Six Flying Dragons ฉายนั้น ยอมรับว่า ในซีรีส์เรื่องล่าสุดนี้ คุณคิมมยองมิน (Kim Myeongmin) ที่รับบท ชองโทจอน นั้นแสดงได้ดีมากๆ เท่มากๆ และคงต้องยอมรับว่า คนเขียนบทซีรีส์เรื่องนี้ช่างเก่งจริงๆที่ทำให้แต่ละ ep. นั้นไม่น่าเบื่อเลย มีแต่ความตื่นเต้นเร้าใจมากๆ
ซัมบง ชองโทจอน ในซีรีส์เรื่อง Six Flying Dragons
รับบทโดย Kim Myeongmin

กลับมาสู่เรื่องของเราในบทความนี้ เนื่องจากผมเป็นหนึ่งในคนที่ศึกษาเรื่องราวทางวิชาการในสาย East Asian Study อยู่บ้างแล้ว เลยสนใจเรื่องนี้ครับ เพราะผมอยากตรวจสอบดูว่า เรื่องในซีรีส์กับเรื่องที่มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร/บันทึกประวัติศาสตร์นั้นตรงกันแค่ไหน เลยพยายามหาทางตรวจสอบ และต้องขอบคุณศาสตราจารย์ Choi Byong-hyon แห่ง Honam University ที่ได้แปลและตีพิมพ์ผลงานแปลตัวบททางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากของเกาหลีขึ้นมา คือ จดหมายเหตุในรัชกาลพระเจ้าแทโจ (The Annals of King T'aejo) นับว่าเป็นการแปลพงศาวดารเกาหลีของราชสำนักออกมาครั้งแรกในโลกภาษาอังกฤษก็ว่าได้ (ต้นฉบับเป็นภาษาจีน และมีฉบับภาษาเกาหลีแปลอยู่แล้วสองสำนวน ซึ่ง ศ.ชเว พยอนฮยอน ก็ดูทั้งสามฉบับ) ซึ่งเป็นตัวบททางประวัติศาสตร์แบบทางการของราชสำนักโชซอนในช่วงขวบปีแรกๆของราชวงศ์นี้ขึ้นมา ผมจึงได้โอกาสตรวจสอบข้อมูลที่สนใจเกี่ยวกับ "ชองโทจอน" ในบันทึกพวกนี้ครับ และเนื่องจากผมเดาเอาว่า คงมีแฟนคลับชาวไทยของซีรีส์เรื่องนี้จำนวนไม่น้อยที่สนใจจะรู้อยู่บ้าง ผมเลยได้ทำการ "แปล" เนื้อหาเกี่ยวกับ "ซัมบง ชองโทจอน" มาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วยเลยครับ โดยจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ


  1. ประวัติของชองโทจอน
  2. เหตุการณ์การสังหารชองโทจอน

*****************************************

1. ประวัติของชองโทจอน (ที่บันทึกไว้ใน Annals of King T'aejo)

มีเขียนไว้ดังนี้ครับว่า



โทจอนมีชื่อรองว่า จงจี (Chongji ; 宗之) มีนามปากกาว่า ซัมบง (三峰 ; ยอดเขาทั้งสาม) จวนของตระกูลนั้นอยู่ที่พงฮวาแห่งอันดง (Ponghwa of Andong) เขาเป็นบุตรของช็องอุนคยอง (Chŏng Un’gyŏng) ผู้เป็นเสนาบดีราชทัณฑ์ ในปีคยองจา (1360) ในรัชสมัยของพระเจ้าคงมินแห่งราชวงศ์ที่แล้ว เขาสอบผ่านได้เข้าเรียนในวิทยาลัยหลวง และในปีอิมอิน (1362) ก็สอบผ่านเป็นขุนนางฝ่ายบุ๋น เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการของกรมราชพิธีทั่วไป (chihu) ในปีพย็องโอ (1366) บิดาและมารดาของเขาสิ้นชีพลงไล่เลี่ยกัน เขาจึงได้ไว้ทุกข์ให้ และสร้างกระท่อมอยู่ติดกับหลุมศพบิดามารดา ในปีซินแฮ (1371) เขาถูกเรียกตัวให้รับตำแหน่งมหาบัณฑิต (t’aesang paksa) และเมื่อพระเจ้าคงมินทรงเซ่นสรวงบูชาเหล่าบูรพกษัตริยาธิราช สุสานหลวง โทจอนได้ทำเครื่องดนตรีในพระราชพิธีขึ้นมาชั่วคราว โดยทำตามแบบแผนที่ระบุไว้ในคัมภีร์ หลังจากนั้น เขาก็รับตำแหน่งเจ้ากรมพิธีการ , ตำแหน่งที่ปรึกษาขั้นสี่ของกรมราชโอการ และท้ายสุดก็ได้เป็นผู้ช่วยขั้นสองของอธิการบดีแห่งวิทยาลัยหลวง

ในปีคับอิน (1374) พระเจ้าคงมินสวรรคต มีราชทูตจากอาณาจักรเป่ยหยวนมาที่ชายแดน โทจอนกล่าวว่าก็ในเมื่อพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศทรงตัดสินพระทัยไปแล้วว่าจะทรงรับใช้ราชวงศ์หมิง คงไม่เหมาะสมที่จะต้อนรับราชทูตจากหยวนกระมัง ยิ่งกว่านั้น ภายใต้สถานการณ์ที่ทูตหยวนประสงค์จะอภัยโทษให้กับความผิดของเรา ทั้งๆที่หยวนเป็นฝ่ายกุเรื่องขึ้นมาเองนั้น เช่นนี้เราจะต้อนรับทูตหยวนได้อย่างไร?” ขุนนางใหญ่ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ในเวลานั้นไม่ฟังคำคัดค้านของโทจอน กระนั้นโทจอนก็ยังคงยืนกรานในความเห็นของตนอยู่ ผลก็คือ เขาทำให้ท่านขุนนางใหญ่พิโรธนัก จึงโดนลดขั้นและโดนย้ายไปที่มณฑลฮอจิน (Hoejin)[1]

ในปีกัปชา (1384) เขาได้ไปเยือนราชสำนักหมิงในฐานะราชเลขานุการประจำขบวนราชทูตไปถวายพระพรวันประสูติของพระจักรพรรดิ โดยมีชองมงจู (Chong Mongju) เป็นราชทูตนำขบวน และเมื่อกลับมา ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในวิทยาลัยหลวง ในปีชองมโย (1387) เขาได้อาสาไปเป็นขุนนางท้องถิ่นในหลายอำเภอ และได้เป็นนายอำเภอเขตนัมยาง (Namyang)[2]

ในปีมูจิน เมื่อพระเจ้าแทโจขึ้นสู่อำนาจ เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีของวิทยาลัยหลวง หลังจากที่ได้ถวายฎีกาว่าด้วยนโยบายต่างๆทางการปกครองของราชสำนัก เขาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นฝ่ายวิชาการของสภาความมั่นคงและเป็นผู้จัดการสอบเข้ารับราชการ จากนั้นจึงกลายมาเป็นกรรมาธิการสูงสุดของสิบสาขาวิชา (siphak tojejo) และได้สอนตำรา คำอธิบายคณิตศาสตร์จีน (Xiangmin suanfa) และวิชาคำนวณปฏิทินด้วยวิชาแทอึล (t’aeŭl ; taiyi) ว่าด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในตอนที่ดำรงตำแหน่งรองเจ้ากรมราชโองการนั้น เขายังได้เขียนตำรายาที่มีชื่อว่า ความลับของการวินิจฉัยโรคทางชีพจรผ่านแผนภูมิต่างๆ (Chinmaek togyŏl) อีกด้วย ในปีคีซา (1389) โทจอน โชจุน และคนอื่นๆได้ร่วมกันวางแผนปฏิรูประบบที่ดินส่วนตัวที่ไม่เป็นธรรม หลังจากที่พระเจ้าคงยางขึ้นครองบัลลังก์ เขาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นเสนาฝ่ายขวาของกรรมาธิการการคลังแผ่นดิน (Samsa usa) และได้รับการอวยยศเป็นขุนนางแห่งชองอึย (Lord of Ch’ungŭi) เพราะมีความดีความชอบในรัชกาลของพระเจ้าคงยาง (Chunghŭng kongsin)
ในปีคยองโอ (1390) เขาได้รับการเลื่อนขั้นเป็นบัณฑิตประจำจวนของอัครมหาเสนาบดี และในปีเดียวกัน ยุนอี (Yun I) และอีโช (Yi Ch’o) ได้ไปเยือนราชสำนักหมิงอย่างลับๆและได้กล่าวร้ายถึงพระเจ้าแทโจว่าหนุนให้พระเจ้าคงยางขึ้นครองราชย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โทจอนยืนกรานให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาผิดๆของทั้งสองคนนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ชองมงจูโน้มน้าวพระทัยพระเจ้าคงยางให้ทรงระงับเรื่องนี้ก่อนที่จะบานปลาย ในปีนั้นเอง เขาจึงได้ไปเยือนราชสำนักหมิงในฐานะราชทูตเพื่อรับผิดชอบในการชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าว

ในปีซินมี (1391) เขาได้ทำฎีกาถวาย ว่าด้วยเรื่องปัญหาการจัดการการปูนบำเหน็จและลงโทษทัณฑ์ ซึ่งทำให้พระเจ้าคงยางทรงกริ้ว จึงถูกลดขั้นและโดนย้ายไปยังนาจู

ในปีอิมซิน (1392) เขาได้รับการเรียกตัวกลับมายังราชสำนัก และได้วางแผนร่วมกับนัมอึนและคนอื่นๆในการจะหนุนพระเจ้าแทโจขึ้นครองบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าแทโจได้ครองบัลลังก์แล้ว เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชบริพารผู้มีความดีความชอบอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุที่ช่วยก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ พร้อมกับได้รับตำแหน่งรองอัครมหาเสนาบดี และตำแหน่งเจ้ากรมการแต่งตั้งข้าราชการและราชลัญจกร จากนั้นก็ได้ไปเยือนราชสำนักหมิงอีกครั้งในฐานะราชทูตที่ไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ และเมื่อกลับมาจากจีนแล้ว เขาก็ได้เป็นประธานกรรมาธิการการคลังของแผ่นดิน พร้อมกับได้เป็นแม่ทัพผู้ควบคุม (p’ansa) สามเหล่าทัพ และท้ายสุดคือได้เป็นถึงแม่ทัพใหญ่ของสามมณฑล (samdo tot’ongsa)

นอกเหนือจากนี้ เขายังได้เขียนตำรามากมาย เช่น แผนภูมิว่าด้วยการจัดกองทหาร (Diagram of Troop Disposition)  ภาพเขียนการล่าสัตว์ , ประมวลกฎหมายแผ่นดิน (Kyŏnggukchŏn) , และความเรียงว่าด้วยการปกครอง (Kyŏngje mun’gam) อีกทั้งยังได้ประพันธ์บทเพลงอย่างใฝ่ฝันถึงผู้ปกครองทองคำ” (Dreaming of the Golden Ruler) “ได้รับม้วนภาพลับอันล้ำค่า” (Receiving the Precious Secret Scroll) “คุณธรรมอันรู้แจ้งแห่งองค์กษัตริย์ของเรา” (The Enlightened Virtue of Our King) “ลำนำการขับไล่นาฮาชู[3]” (Song of Driving out Nahachu) และลำนำแห่งการรักษาสันติในแผ่นดินตะวันออก” (Song of Maintaining Peace in the Eastern Kingdom) อีกทั้งยังได้เรียบเรียงหนังสือ โครยอกุกซา (History of Koryŏ) ร่วมกับชองจง (Chŏng Ch’ong) และคนอื่นๆ
เขาได้รับการอวยยศเป็นขุนนางแห่งพงฮวา (Count of Ponghwa) และขึ้นสูงถึงตำแหน่งปรมาจารย์ผู้น่าเลื่อมใสในความสุขอันรุ่งโรจน์ (Grand master for the veneration of splendid happiness; rank 1b) ในปีพยองจา (1396) เขาได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการคุมสอบราชการ และเป็นครั้งแรก ที่จัดให้มีการสาธยายคัมภีร์ต่างๆของลัทธิขงจื่อในการสอบขั้นแรก ในปีชองชุก (1397) เขาลาออกไปรับตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจการเพื่อความสงบในแดนตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ตั้งชื่อให้กับอำเภอต่างๆมากมาย รวมทั้งบูรณะป้อมคงจู (Fortress of Kongju) ด้วย เมื่อกลับมายังราชสำนักในฤดูใบไม้ผลิในปีมูอิน (1398) กษัตริย์ก็ทรงต้อนรับเขาอย่างทรงพระเมตตา และตรัสขอบพระทัยเขาที่ทำงานอย่างหนัก

โดยปกติแล้วโทจอนเป็นผู้ที่เปรื่องปราชญ์และเฉลียวฉลาดยิ่ง ตั้งแต่วัยเด็กแล้วที่เขาชอบเรียนหนังสือและชอบอ่านตำรามากมายมหาศาล ดังนั้น คำพูดคำจาของเขาจึงเต็มไปด้วยเหตุผลและเหมาะสม เขาถือว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องตักเตือนเหล่าอนุชนให้ละทิ้งแนวคิดนอกรีตเสีย [คือ ศาสนาพุทธ] ในช่วงวัยเยาว์นั้น เขาเคยมีชีวิตที่ยากจนแต่ก็สงบสุข และเชื่อว่าตนนั้นมีความสามารถครบครันทั้งฝ่ายบุ๋นและบู๊เป็นอย่างดี  เมื่อเขาได้ตามเสด็จฯไปยังแดนตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เขาได้เห็นกองทัพหลวงอยู่ในระเบียบวินัยเป็นอย่างดี จึงได้ทูลกษัตริย์อย่างลับๆว่าช่างน่าประทับใจยิ่งแล้วพะยะค่ะ จะมีอะไรที่กองทัพเยี่ยงนี้ทำไม่ได้บ้างเล่า?” กษัตริย์ตรัสตอบว่าเจ้าหมายความว่าเยี่ยงไร?” โทจอนทูลตอบว่าสิ่งที่กระหม่อมกำลังกราบทูลก็คือ พระองค์ควรโจมตีพวกโจรญี่ปุ่นจากด้านตะวันออกเฉียงใต้พะยะค่ะ

ที่หน้าค่ายทหารนั้นมีต้นสนแก่อยู่ต้นหนึ่ง โทจอนทูลขอพระราชานุญาตให้ตนได้แต่งบทกวีว่าด้วยต้นสนต้นนั้น และเมื่อกะเทาะเปลือกออก เขาจึงแต่งว่า

ข้าเห็นต้นสน[4]ที่อดทนมาหลายหมื่นปี
มันเกิดและเติบโตในหลืบเขาเขียวขจีนับหมื่น
ข้าสงกาว่าเราจะได้เจอกันในอีกหลายปีข้างหน้าไหมหนอ
โลกหมุนเวียนเปลี่ยนระยะพามึนงง ฉับพลันคงกลายเป็นอดีตไป

เมื่อช่วงที่ราชวงศ์เพิ่งก่อตั้งใหม่ๆนั้น เขาดื่มหนักมาก และขณะเมาเหล้านั้นเขาจะพร่ำเพ้อออกมาว่าไม่ใช่ฮั่นเกาจู่ที่ทรงแต่งตั้งจางจื่อฝาง [เตียวเหลียงผู้แปล] แต่เป็นจางจื่อฝางต่างหากที่แต่งตั้งฮั่นเกาจู่และไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตามเกิดขึ้นหรือเป็นเรื่องที่สามารถช่วยเหลือองค์กษัตริย์ได้ โทจอนจะไม่เคยพลาดที่จะทำงานนั้นๆหรือได้มีส่วนร่วมเลย ผลก็คือ เขาประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงมากมายหลายเรื่องและกลายมาเป็นข้าราชบริพารที่มีความดีความชอบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นคนที่ใจคอคับแคบ ขี้อิจฉาริษยา และใจเสาะด้วย ฉะนั้นเขาจึงพยายามที่จะทำร้ายคนอื่นๆที่เขาเชื่อว่าดีกว่าตัวเขา และเพื่อเป็นการแก้แค้น เขาจึงชักจูงกษัตริย์ให้ทรงสำแดงเดชานุภาพของพระองค์ด้วยการฆ่าฟันผู้คน แต่องค์กษัตริย์ก็ไม่ได้ทรงสดับฟังคำของเขาเสมอไป ในงานเขียนเรื่อง โครยอกุกซา (History of Koryŏ)  ที่เขารวบรวมเรียบเรียงขึ้นนั้น มีเนื้อหาหลายส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะมีการตัดเนื้อหาออกหลายส่วนและมีการเพิ่มเติมเนื้อหาผิดๆเข้าไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าคงมิน บรรดาผู้รักความยุติธรรมย่อมจะวิพากษ์งานเขียนชิ้นนี้

แรกเริ่มเดิมทีนั้น โทจอนถือเอาฮันซัน อีแซ็ก (Hansan Yi Saek) เป็นอาจารย์ของตน และเป็นเกลอกันกับโอช็อน ชองมงจู (Och’ŏn Chŏng Mongju) และซองซัน อีซุงอิน (Sŏngsan Yi Sungin) และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสี่คนนี้ก็สนิทสนมกันและจริงใจต่อกันอย่างยิ่ง อย่างไรเสีย โทจอนกลับใส่ร้ายป้ายสีพวกเขาทั้งหมดและมองพวกเขาเป็นศัตรูตั้งแต่เขาไปคบค้ากับโชจุน (Cho Chunเสนาบดีฝ่ายซ้ายคนแรกของอาณาจักรโชซอน ภายหลังเป็นอัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยแทจง)

คิมจิน (Kim Chin) ผู้เป็นพ่อตาของอูยอน (U Yŏn) ซึ่งเป็นตาของโทจอนนั้น เมื่อครั้งยังหนุ่มนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุและได้แอบมีสัมพันธ์ลับกับเมียของทาสของตนที่ชื่อว่าซุย (Sui) และได้ให้กำเนิดบุตรสาว ผู้ซึ่งภายหลังจะกลายมาเป็นยายของโทจอน ลูกหลานของอูฮยอนโพ (U Hyŏnbo) นั้นดองกันกับคิมจินผ่านการแต่งงาน และรู้ดีถึงประวัติครอบครัวของโทจอน เมื่อครั้งที่โทจอนเริ่มต้นทำงานราชการนั้น การรับรองตำแหน่งขุนนางของ โทจอนถูกทำให้ล่าช้าออกไป โทจอนจึงสงสัยว่าลูกหลานข้างฝ่ายอูฮยอนโพน่าจะมีส่วนในการทำให้ล่าช้านี้ ด้วยเชื่อว่าพวกนั้นต้องไปบอกกล่าวผู้มีอำนาจเบื้องบนเรื่องกำพืดเดิมของเขาเป็นแน่ เขาจึงปิดบังความขุ่นเคืองและความเกลียดชังนี้ไว้หลายปีจนกระทั่งเขาขึ้นสู่อำนาจ จากนั้นจึงกุเรื่องว่าตระกูลของอูฮยอนโพนั้นต้องอาญาแผ่นดิน ทำการปลุกปั่นยุยงฮวางคอจอง (Hwang Kŏjŏng) และคนอื่นๆ ฆ่าคนไปถึงห้าคนรวมทั้งบุตรชายสามคนของอูฮยอนโพและฆ่าอีซองอินด้วย ภายหลังเขาได้สมรู้ร่วมคิดกับนัมอึนและคนอื่นๆเพื่อยกให้บุตรนอกสมรสผู้เยาว์วัยของกษัตริย์[5] ให้ขึ้นเป็นองค์รัชทายาทเพื่อเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจของตนไว้ประทุษร้ายบรรดาเชื้อพระวงศ์อื่นๆ เมื่อความพยายามของเขาล้มเหลว เขาจึงถูกสังหารไปพร้อมๆกับบุตรชายสามคนของเขาด้วย




[1] นาจู, มณฑลชอลลาใต้
[2] ปัจจุบันคือเมืองฮวาซอง เขตจังหวัดคยองกี
[3] ขุนนางโครยอที่ก่อกบฏในช่วงปลายสมัยที่มองโกลมีอิทธิพลเหนือโครยอ
[4] หมายถึงอีซองกเย ซึ่งมีนามปากกาว่า ซงฮอน (Songhŏn) หรือ ซงฮอน คอซา (Songhŏn kŏsa) ซึ่งแปลว่า กระท่อมต้นสน หรือ ผู้พำนัก กระท่อมต้นสน
[5] หมายถึงอีพังซอก รัชทายาทของพระเจ้าแทโจที่เกิดแต่พระมเหสีซินต็อก หรือท่านหญิงคัง ผู้เป็นภรรยาหลวงคนที่สองของอีซองกเย รัชทายาทอีพังซอกถูกสังหารโดยองค์ชายชองอัน (อีพังวอน) ไปในเหตุการณ์การการห้ำหั่นในหมู่องค์ชายครั้งแรก (First Strife of Princes) เมื่อปี 1398 สังเกตว่ามีการใช้คำเรียกบุตรที่เกิดแต่พระนางซินต็อกว่าเป็น nothos หรือลูกนอกสมรส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอีพังวอนในการเขียนบันทึกประจำราชวงศ์ด้วย

-- Choi Byonghyon, The Annals of King T'aejo: Founder of Korea's Choson Dynasty (Translated and Annotated).(Harvard: Harvard University Press ,2014), pp.846-850.


(ซ้าย) รูปวาดซัมบง ชองโทจอน
(ขวา) โชแจฮยอน รับบท ชองโทจอน ในซีรีส์เรื่อง Jeong Dojeon



*****************************************

2. เหตุการณ์การสังหารชองโทจอน (ที่บันทึกไว้ใน Annals of King T'aejo)

สำหรับผู้ที่ได้ดูซีรีส์ Jeong Dojeon หรือ Six Fying Dragons มาแล้ว คงนึกภาพออกในตอนที่องค์ชายชองอัน (อีพังวอน) และคนอื่นๆพากันเตรียมสังหารกลุ่มของชองโทจอนนะครับ ซึ่งแน่นอนว่า ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า ในซีรีส์กับในบันทึกของราชสำนักนี่ต่างกันมากน้อยแค่ไหน  

เพราะในซีรีส์ Jeong Dojeon นั้น ชองโทจอนถูกสังหารโดยถูกทหารขององค์ชายชองอัน (อีพังวอน) ลากออกมาที่หน้าบ้านตัวเองในเวลากลางวัน แล้วก็โดนอีพังวอนฟันเข้าที่หน้าอกตาย ส่วนในซีรีส์ Six Flying Dragons นั้น ชองโทจอนโดนอีพังวอนกดดันให้ออกมาจากวิทยาลัยหลวง (ซองกยุนกวาน) ในเวลากลางคืน แล้วก็เอาดาบแทงเข้าที่ท้องด้านซ้ายของโชโทจอน

และ...ฮ่าๆๆๆ... เรื่องราวที่บันทึกไว้จะเหมือนในซีรีส์หรือไม่ ก็เชิญอ่านกันได้เลยครับ เพราะบันทึกของรัชทาลแทโจนั้นเขียนไว้ดังนี้ว่า

องค์ชายชองอันทรงเรียกตัวซุกพอน (Sukbŏn) มาอีกครั้งแล้วตรัสถามว่าตอนนี้เราควรทำอะไร?” ซุกพอนทูลตอบว่าเราควรไปยังที่ๆพวกกลุ่มคนชั่วสารเลวมันรวมตัวกันอยู่แล้วล้อมเรือนที่พวกมันอยู่ตอนนี้เอาไว้พะยะค่ะ เราจะเผาเรือนพวกมัน แล้วฆ่าพวกมันตอนที่พวกมันหนีออกมา” 

เมื่อถึงยามสองของราตรีนั้น [ประมาณ 10.00 p.m. หรือสี่ทุ่ม] เมื่อพวกเขาผ่านแถวซงฮยอน (Songhyŏn)[6] ซุกพอนก็ควบม้าไปเฝ้าองค์ชายชองอันและรายงานว่าตนได้ทำเครื่องหมายไว้ที่เรือนของอนุภรรยาของนัมอึน (Nam Ŭn) ที่อยู่แถวหมู่บ้านเล็กๆไว้แล้ว

องค์ชายชองอันทรงหยุดม้าแล้วให้ทหารเลวสิบนาย รวมทั้งข้ารับใช้ส่วนพระองค์อย่างซ๊กอึน (Sogŭn) ไปล้อมเรือนที่พักไว้ก่อน ที่นอกประตูนั้นมีม้าที่เทียมอานไว้คู่หนึ่ง ส่วนทาสที่ทำหน้าที่ดูแลม้านั้นพากันหลับใหล ชองโทจอน , นัมอึน , และคนอื่นๆนั่งด้วยกันใต้แสงไฟ กำลังพูดคุยและหัวเราะกันอยู่

ซ๊กอึนและคนอื่นๆยังไม่เข้าไปในเรือนนั้น เพียงแต่มองเข้าไปเฉยๆ ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงธนูสามดอกที่ยิงมารวดเดียวปักบนกระเบื้องหลังคาเรือนนั้น ซ๊กอึนและคนอื่นๆพากันกลับไปที่ประตูหน้าหมู่บ้านแล้วถามว่าลูกธนูพวกนั้นมาจากไหน ซุกพอนตอบว่าของข้าเองแหละแล้วจึงบอกซ๊กอึนและคนอื่นๆให้กลับไปที่เรือนนั้นอีกครั้ง ให้ไปล้อมเรือนนั้นไว้แล้วจุดไฟเผาเรือนอื่นๆอีกสามหลังที่ติดกันกับเรือนนั้นเสีย โทจอนและคนอื่นๆพากันวิ่งหนีออกมาแล้วหาที่ซ่อน และซิมฮโยแซง (Sim Hyosaeng) อีคึน (Yi Kŭn) ชางชีฮวา (Chang Chihwa) และคนอื่นๆต่างถูกสังหารสิ้น

โทจอนหนีไปยังเรือนใกล้ๆกันของมินพู (Min Pu) ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการคนหนึ่ง แต่มินพูไปแจ้งเรื่องนี้ว่าเจ้าอ้วนพุงใหญ่มาที่บ้านของกระหม่อมองค์ชายชองอันจึงทราบว่าหมายถึงโทจอน แล้วรับสั่งให้ซ๊กอึนและคนอื่นๆอีกสี่คนไปจับตัวโทจอนมา พบว่าโทจอนซ่อนตัวอยู่ในห้องนอน ซ๊กอึนและคนอื่นๆสั่งให้เขาออกมา ท้ายสุดโทจอนก็ปรากฏตัวออกมา โดยถือมีดสั้นไว้ในมือด้วย แต่ก็แทบเดินไม่รอดแล้ว จึงได้คลานออกมา ซ๊กอึนและคนอื่นๆสั่งให้เขาทิ้งมีดสั้นจากมือเสีย โทจอนจึงทิ้งมีดสั้นแล้วออกมานอกประตู เขากล่าวว่าอย่าฆ่าข้าเลย ได้โปรดเถิด ขอให้ข้าได้พูดอะไรก่อนตายเถิดซ๊กอึนและคนอื่นๆจึงช่วยกันลากตัวโทจอนไปอยู่ต่อหน้าม้าขององค์ชายชองอัน โทจอนพูดว่าองค์ชายทรงเคยช่วยชีวิตกระหม่อมมาก่อนแล้วหนหนึ่ง กระหม่อมขอร้องให้ทรงไว้ชีวิตกระหม่อมอีกสักหนเถิดองค์ชายชองอันตรัสว่าท่านได้เป็นถึงตำแหน่งขุนนางแห่งพงฮวา (Count of Ponghwa) ท่านรู้สึกว่านี่ยังไม่พอสำหรับท่านอีกหรือ? เหตุใดความชั่วช้าของท่านจึงมาไกลเกินถึงเพียงนี้?” จากนั้นจึงรับสั่งให้พาตัวเขาไปตัดหัวเสีย 

ชองโทจอนมีบุตรชายสี่คน เมื่อได้ยินเรื่องโกลาหลนี้เข้า ยู (Yu) และยอง (Yŏng) จึงรีบวิ่งไปช่วยเหลือบิดาของตน แต่ถูกสังหารระหว่างทาง ทัม (Tam) ซึ่งเป็นบุตรอีกคนหนึ่ง ได้ฆ่าตัวตายที่เรือน ด้วยการเชือดคอตนเองตาย ก่อนหน้านั้น ทัมได้บอกบิดาของตนว่าเราจำต้องบอกองค์ชายชองอันในเรื่องวันนี้นะขอรับโทจอนตอบว่าพ่อเคยทรยศโครยอมาแล้วหนหนึ่ง ถ้าตอนนี้พ่อทรยศฝ่ายนี้แล้วเปลี่ยนฝั่งไปเป็นอีกฝ่าย ต่อให้ผู้คนมิพูดถึงเรื่องนี้กัน แต่มิควรที่พ่อจะต้องรู้สึกละอายหรอกหรือ?”

[…]

องค์ชายชองอันทรงส่งหนังสือให้เสนาบดีฝ่ายซ้ายโชจุน (Cho Chun) โดยให้พักโพ (Pak P’o) และมินมูจิล (Min Mujil) นำหนังสือไปมอบให้ โชจุนลังเลที่จะมาเฝ้าองค์ชาย เพราะหมอดูเคยทำนายทายทักเขาไว้ องค์ชายจึงทรงส่งซุกพอนมากดดันเขา และเสด็จไปต้อนรับทักทายเขาที่กลางทาง 




[6] ปัจจุบันคือเขต Hoehyŏn-dong และ Sogong-dong ในกรุงโซล

-- Choi Byonghyon, The Annals of King T'aejo: Founder of Korea's Choson Dynasty (Translated and Annotated).(Harvard: Harvard University Press ,2014), pp.835-837.

ฉากในซีรีส์ Jeong Dojeon ที่ชองโทจอนถูกสังหารที่บ้านพัก
โดยก่อนตายมองเห็นวิญญาณของโพอึน ชองมงจู มารับตนด้วย



**********************************************

เป็นอย่างไรครับ? สรุปคือ ต่างออกไปจากในซีรีส์ทั้งสองเรื่องเลยใช่ป่าว? เพราะในบันทึกนี้ (ซึ่งก็คงจะจริง) นั้น ระบุไว้ว่าซัมบง ชองโทจอนแทบจะไม่ได้ตายแบบ "เท่ๆ" เหมือนในซีรีส์เลย แถมโดนฆ่าด้วยการ "ตัดหัว" อีกด้วย (เพราะแกถูกข้อหา "กบฏ" ไงครับ) แต่ที่เหมือนในซีรีส์ก็คงเป็นเรื่องที่องค์ชายชองอันแกกดดันให้โชจุน เพื่อนสนิทของชองโทจอนยอมมาร่วมมือกับแกนี่แหละ 

สำหรับข้อสังเกตที่สำคัญมากๆอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากในส่วนอื่นๆของบันทึกจดหมายเหตุรัชกาลแทโจนี้ ถูกเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลแทจง (อีพังวอน) ครับ เพราะมีการแทนตัวอีพังวอนในสรรพนามบุรุษที่ 3 ว่า His Majesty อยู่บ่อยมาก และเรื่องราวส่วนใหญ่ก็คือการเขียนย้อนไปในสมัยอดีต (คือ เล่าให้ฟังจากปัจจุบันขณะนั้น) ผมจึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่บันทึกนี้จะเขียนแบบมี "ใบสั่ง" มาจากอีพังวอน 

Anyway, สำหรับท่านที่ต้องการนำเนื้อหาจากบทความในบล็อกผมไปใช้ ขอความกรุณาอ้างอิงให้ถูกหลักวิชาการด้วยครับ อย่าเอาไปแบบ copy  & paste นะฮะ ฮ่าๆๆ

ขอบคุณที่อ่านครับ : )

ความคิดเห็น