(แปล) จดหมายเหตุรัชกาลแทโจ: ว่าด้วยประวัติของนัมอึน (Nam Ŭn)

หลังจากที่บทความที่แล้วว่าด้วยประวัติและฉากการสังหารอาจารย์ซัมบง ชองโทจอนไปแล้ว บทความนี้ผมเลยจะนำเนื้อหาที่ผมได้แปลจาก Annals of King T'aejo ในส่วนที่ว่าด้วยประวัติและการประหารชีวิตนัมอึน (Nam Ŭn) ผู้เป็นรุ่นน้องที่เรียนหนังสือมาด้วยกันจากซองกยุนกวาน และเป็นเพื่อนสนิทของชองโทจอนตราบวันสุดท้ายของชีวิตครับ

จินซอนคยู (Jin Seonkyu) รับบท นัมอึน ในซีรีส์ Six Flying Dragons
ก็เหมือนบทความที่แล้ว ผมขอแยกเป็น 2 ส่วนเช่นกันครับ คือ

  1. ประวัติของนัมอึน
  2. เหตุการณ์การประหารชีวิตนัมอึน
ขอเชิญอ่านได้ดังต่อไปนี้...

*****************************************

1. ประวัติของนัมอึน (ที่บันทึกไว้ใน Annals of King T'aejo)

มีเขียนไว้ดังนี้ครับว่า

ต้นตระกูลของนัมอึนอยู่ที่อึยรยองแห่งชินจู (Ŭiryŏng of Chinju) เขาเป็นบุตรชายของอึลพอนlbŏn) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่ไม่มีตำแหน่งประจำ (Chancellor-without-portfolio) ในปีคาพิน (..1374) ในรัชสมัยพระเจ้าคงมิน นัมอึนสอบผ่านได้เข้าเรียนยังวิทยาลัยหลวง (National Academy Examination) และในปีคยองซิน (1380) ในรัชสมัยของกษัตริย์ที่ถูกปลด (หมายถึงพระเจ้าอู--ผู้แปล) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายจารีตผู้ประกอบพิธีบูชาแท่นบูชาธรณีและธัญพืช (Altar of Earth and Grain) ในปีอึลชอก (1385) เมื่อพวกโจรสลัดญี่ปุ่นรุกรานอำเภอซัมช็อก ป้อมเมืองนั้นเล็กมากจนยากจะต้านทานได้ นัมอึนได้อาสารบกับเหล่าผู้รุกราน เมื่อมาถึงซัมช็อก พวกโจรญี่ปุ่นก็ปรากฏตัวขึ้นทันที เมื่อเปิดประตูป้อมแล้ว นัมอึนนำทัพทหารม้าสิบกองร้อยและโจมตีพวกศัตรูแบบไม่ให้ตั้งตัว  พวกโจรสลัดญี่ปุ่นจึงหนีไป หลังจากมีรายงานเรื่องชัยชนะของกองทหารของเขา เขาจึงได้รับการเรียกตัวกลับมาที่ราชสำนักและได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ดูแลคอกม้าหลวง

ในปีมูจิน (1388) เขาได้ตามเสด็จกษัตริย์ไปยังเกาะวีฮวา (Wihwa Island) โดยร่วมกับโชอินอ๊ก (Cho Inok) และคนอื่นๆถวายฎีกาให้ถอยทัพกลับ เขาเคยคิดวางแผนเรื่องให้กษัตริย์ (พระเจ้าแทโจ อีซองกเย--ผู้แปล) ขึ้นครองราชย์อย่างลับๆ แต่ไม่กล้าทูลแผนการนั้น เพราะกษัตริย์ทรงเคร่งขรึมและรอบคอบ อย่างไรเสีย หลังจากกลับจากเกาะวีฮวาแล้ว เขาก็ได้เปิดเผยเรื่องนี้อย่างลับๆต่อฝ่าบาท (อีพังวอน ภายหลังเป็นพระเจ้าแทจง) และฝ่าบาททรงเตือนเขาไม่ให้บอกเรื่องนี้แก่ผู้อื่น ในปีคีซา (1389) เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทหารองครักษ์ชั้นอาวุโสของหน่วยองครักษ์เหยี่ยวเหิร (Soaring Falcon Guard) พร้อมๆกับเป็นเสนาบดีกระทรวงสงคราม (minister of war ; kunbu p’ansŏ) และในปีคยองโอ (1390) เขาได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นรักษาการประธานสภาความมั่นคง ในปีอิมซิน (1392) พระเจ้าคงยางทรงเชื่อในคำให้ร้ายเกี่ยวกับนัมอึน จึงทรงสงสัยและอิจฉาเขา เมื่อสถานการณ์ไม่แน่นอน ฝ่าบาท (อีพังวอน) ทรงเรียกตัวเขาและบัญชาให้เขาวางแผนการลับเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์กับเหล่าผู้ถือตนว่าเป็นสาวกของกษัตริย์ (อีซองกเย) ตั้งแต่แรก

หลังจากกษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์ นัมอึนได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงในสภาความมั่นคงและได้รับพระราชทานยศว่า ผู้เจริญในครรลองธรรมและข้าราชบริพารที่ทรงคุณความดีในการช่วยก่อตั้งราชวงศ์ (Pŭnnŭi chwamyŏng kaeguk kongsin) หลังจากดำรงหลายตำแหน่ง ในที่สุดก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ช่วยที่ปรึกษาใหญ่ประจำจวนอัครมหาเสนาบดี ควบคู่ไปกับตำแหน่งเจ้ากรมแต่งตั้งข้าราชการและราชลัญจกร และตำแหน่งแม่ทัพแห่งกองทัพขวา ในปีชองชุก (1397) ก็ได้รับพระราชทานศักดินาเป็นขุนนางแห่งอึยซอง (Lord of Ŭisŏng)

โดยปกติแล้วนัมอึนเป็นผู้มีความกล้าหาญและโดดเด่น ไม่ชอบข้อจำกัด ชอบวางแผนและยุทธศาสตร์แบบนอกตำรา เขาเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการต่อตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่เนื่องจากขาดประสบการณ์และการเรียนรู้ จึงหลงไปกับแผนของท่านหญิงคัง (Lady Kang – พระมเหสีซินต๊อกในพระเจ้าแทโจ) ซึ่งปลดตำแหน่งโอรสองค์โตของกษัตริย์จากตำแหน่งรัชทายาท [เพื่อที่จะให้โอรสของพระนางเองเป็นทายาทโดยธรรมของราชบัลลังก์] ผลที่ตามมาคือ นัมอึน ช็องโทจอน และคนอื่นๆได้ตั้งใจจะพยายามยึดกุมบังเหียนแห่งอำนาจหลังจากที่ได้กำจัดบรรดาเชื้อพระวงศ์แล้ว ท้ายสุดก็ล้มเหลวและต้องเผชิญหายนะ อายุของนัมอึน วันที่ตายนั้นคือสี่สิบห้า เขามีบุตรชายสี่คน ได้แก่ คยองซู (Kyŏngsu) คยองอู (Kyŏngu) คยองบก (Kyŏngbok) และคยองจี (Kyŏngji)


-- Choi Byonghyon, The Annals of King T'aejo: Founder of Korea's Choson Dynasty (Translated and Annotated).(Harvard: Harvard University Press ,2014), pp.850-851.

*****************************************

2. เหตุการณ์การประหารชีวิตนัมอึน (ที่บันทึกไว้ใน Annals of King T'aejo)

ฉากตอนสังหารนัมอึนในซีรีส์ Jeong Dojeon เนี่ย ผมไม่ได้ดูครับ แต่ฉากสังหารนัมอึนในซีรีส์ Six Flying Dragons เนี่ย ผมเชื่อว่าใครหลายคนคงจำได้ กล่าวคือ แกหนีการตามล่าของทหารของกลุ่มองค์ชายที่นำโดยอีพังวอน จนร่อแร่ไปหลบที่โกดังแห่งหนึ่งเข้า แล้วอีชินจ็อก (Yi Shinjeok) ผู้เป็นศิษย์และสมาชิกกลุ่มมิลบน (รากลึกลับ) ได้รับมอบหมายภารกิจให้ฆ่านัมอึนเพื่อเป็นสปายในราชสำนัก โดยให้รอฟังคำสั่งต่อไปของกลุ่มมิลบน (ซึ่งชองโทกวัง น้องชายของชองโทจอนจะขึ้นมากุมบังเหียนต่อ และได้ชองกีจุนผู้เป็นบุตรและหลานลุงของชองโทจอนมานำกลุ่มมิลบนต่ออีกที ใครที่ดูซีรีส์ Tree with Deep Root มาแล้วคงจำได้) แน่นอนว่า ในบันทึกรัชกาลแทโจนั้นไม่มีพูดถึงฉากนี้ไว้ แต่บันทึกไว้อีกแบบครับว่า หลังจากเหตุการณ์สังหารชองโทจอนไปในคืนก่อน (ใครอ่านบทความที่แล้ว คงจำได้ว่า ทุกคนแตกฮือหลังจากที่พวกอีพังวอนสั่งให้เผาไฟไล่ออกมา) นัมอึนได้หนีออกมาครับ และ...

นัมอึนเตรียมการหลบหนีผ่านประตูท่อน้ำแล้วซ่อนตัวอยู่ที่กระท่อมนอกกำแพงเมือง ชเวอุน (Ch’oe Un) กับฮาคยอง (Ha Kyŏng) ซึ่งเป็นนายทหารติดตามของเขายังคงอยู่ฝ่ายเขาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย นัมอึนประสงค์จะยอมเข้าคุกหลวงของกรมนครบาล (Capital Constabulary Prison) แต่ชเวอุนและคนอื่นๆพยายามห้ามปรามเขา นัมอึนกล่าวว่าถึงแม้(ช็อง)โทจอนจะถูกประชาชนเกลียดชังและถูกประหารไปแล้ว แต่ข้าไม่เคยสร้างศัตรูที่ไหนจากนั้นจึงไปยังคุกหลวงของกรมนครบาลแล้วจึงถูกตัดหัวที่นอกประตูคุก ภายหลังจากที่ฝ่าบาท (องค์ชายชองอัน ภายหลังเป็นพระเจ้าแทจง) ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงเลือกชเวอุนและฮาคยองให้รับตำแหน่งงานราชการด้วยเหตุที่พวกเขามีความภักดีต่อเจ้านายเก่าของตน.


-- Choi Byonghyon, The Annals of King T'aejo: Founder of Korea's Choson Dynasty (Translated and Annotated).(Harvard: Harvard University Press ,2014), pp.846.

*****************************************

จะเห็นได้ว่า นัมอึนผู้นี้ ในตอนท้ายสุดแล้ว ก็คิดว่าตัวเองดีกว่าชองโทจอนเยอะ เพราะไม่ได้มีศัตรูหรือเป็นที่เกลียดชังอะไร แต่ก็ยอมโดนประหารชีวิตเพราะคงเหนื่อยเสียแล้ว

ส่วนลูกน้องสองคนของนัมอึนนั้น ดูท่าว่าอีพังวอนคงถูกใจเป็นพิเศษแน่ๆ ถึงได้ยอมรับให้ทำงานราชการต่อ ฮ่าๆๆ

แน่นอน ผมคิดว่าทุกท่านที่อ่านคงเห็นชัดว่า ผู้บันทึกใช้คำสรรพนามบุรุษที่ 3 ในการเรียนอีพังวอนว่า "ฝ่าบาท" (Your Majesty) ตลอด ทั้งๆที่เป็นการบันทึกเรื่องอดีตในรัชกาลแทโจ (อีซองกเย) แท้ๆ จึงเป็นไปได้ว่า บันทึกนี้ถูกเรียบเรียงและชำระขึ้นโดยมี "ใบสั่ง" หรือมีอิทธิพลของอีพังวอนครอบงำอยู่ สำหรับผู้เรียนประวัติศาสตร์มา จึงควรเฉลียวใจในจุดนี้ครับ (เช่นเดียวกับประวัติของชองโทจอน)

P.S. สำหรับท่านที่ต้องการนำเนื้อหาจากบทความในบล็อกผมไปใช้ ขอความกรุณาอ้างอิงให้ถูกหลักวิชาการด้วยครับ อย่าเอาไปแบบ copy  & paste นะฮะ

ขอบคุณที่อ่านครับ : )

ความคิดเห็น