ทัศนะของจูซี (Zhu Xi) ว่าด้วยเรื่องการตัดสินว่าอะไรดีชั่วของมนุษย์



"[สมมติว่าเรากล่าวว่า "เรารักความดี" มันก็ควรจะหมายความว่า จากภายในจนถึงภายนอกของเรานั้น จะต้องไม่มีความดีเล็กๆน้อยๆ (iota of good) ใดเลยที่เราจะไม่รัก และสมมติอีกว่ายามเรากล่าวว่า "เราเกลียดชังความชั่ว" มันก็ควรจะหมายความว่า จากภายในตลอดจนถึงภายนอกของเรานั้นจะต้องไม่มี] ความชั่วเล็กๆน้อยๆ (iota of evil) อันใดที่เราจะไม่เกลียดชัง เมื่อเรารักความดีนั้น ทั้งใจเราก็ต้องรักโดยไม่มีข้อยกเว้น นี่ก็จะหมายความว่าความรักที่เรามีต่อความดีนั้นจะต้องเป็นความรักจริงแท้เสมือนที่เรารักสีสันที่สวยงามนั่นแล เราอยากจะทำให้ดวงตาของเราเองพึงใจกับภาพที่เห็นได้ และเราก็ไม่ได้รักสีสันสวยๆนั้นนั้นเพราะ[ดวงตาของ]คนอื่นๆเสียหน่อย และเมื่อเราเกลียดความชั่วก็ย่อมหมายความว่า ทั้งใจของเราจะต้องเกลียดชังทุกๆความชั่วโดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน นี่ก็จะหมายความด้วยว่า ความเกลียดชังที่เรามีต่อความชั่วร้ายนั้นจะเป็นความเกลียดจริงๆเหมือนที่เราเกลียดกลิ่นเหม็นๆนั่นแล เราย่อมอยากที่จะทำให้จมูกของเราพึงใจ [ในการรับรู้กลิ่นต่างๆด้วยตัวมันเอง] มิใช่ว่าเกลียดกลิ่นเหม็นนั้นเพราะ[จมูกของ]คนอื่นเสียเมื่อไร จากจุดนี้นี่เองแรงจูงใจที่แท้จริงของเราและมโนทัศน์ว่าด้วยความรักในสิ่งดีและเกลียดชังสิ่งชั่วของเราได้บรรลุทุกสภาวะในทุกๆกาละและทุกๆเทศะ โดยมิได้ถูกขัดขวางหรือทำให้ชะงักงันแม้แต่น้อย ในความเป็นไปได้ทุกประการนั้น [จิตของ]เราจะกระจ่างชัดอย่างสมบูรณ์แบบทั้งภายในภายนอก และไม่มีสิ่งใดมากีดขวางจิตเลยแม้แต่นิดไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก จิตของเราจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องทั้งหมด และชีวิตของเราก็จะได้รับการปลูกฝัง (cultivated) อย่างเสร็จสมบูรณ์ด้วย ถ้าหากคนถ่อย (เสี่ยวเหริน-โซ้ยหนั่ง 小人) ทำเรื่องชั่วๆในที่ลับและแสร้งทำดีในที่แจ้งเพื่ออำพรางตัวตนของเขา เราก็ไม่ควรกล่าวว่าเขาเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่าความดีและความชั่วคืออะไร แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาควรจะรักและเกลียดสิ่งใดอย่างแท้จริงต่างหาก และนอกจากนี้ คนถ่อยก็ไร้ความสามารถที่จะดูแลระมัดระวังตัวเขาเองในอันที่จะหยุดยั้งความไม่ระมัดระวังและการหลอกตัวเองจากการที่ตัวเขายิ่งเสื่อมถอยลงสู่จุดต่ำตมเช่นนี้โดยที่ไม่ได้ตระหนักรู้ด้วยตัวเขาเองเลย..."

ส่วนหนึ่งของบทที่ 6 ของงานเขียนชื่อ "ปุจฉา-วิสัชนาว่าด้วยตำราต้าเสวีย" (大學或問) ภาพถ่ายข้างต้นคือตัวบทข้างต้นนี้ที่เป็นต้นฉบับลายมือของจูซี ต้นฉบับนี้ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนครับ


*************************************



จูซี (朱熹) หรือที่ได้รับเกียรติเรียกว่า จูจื๊อ
(朱子 แปลว่า ท่านอาจารย์จู) 
จากย่อหน้าดังกล่าวที่ผมได้แปลเก็บความมา (จากภาษาอังกฤษอีกที) นี้ ทำให้เราเห็นข้อจริยศาสตร์ (Ethics) ของจูซี (Zhu Xi) ปรมาจารย์ลัทธิขงจื่อใหม่ (Neo-Confucianism) ของจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ได้ว่า สำหรับจูซีแล้ว การตัดสินว่าสิ่งใดดี-ชั่ว นั้น เป็นการตัดสินใจเชิงคุณค่า (value judgement) ที่เกิดจากทั้งภายในและภายนอกของตัวปัจเจก โดยวางมาตรฐานการตัดสินทางคุณค่าดังกล่าวอยู่บนคำอุปมาเปรียบเทียบกับประสาทสัมผัส (empirical sensation) ของตนที่ตนจะเป็นผู้รับรู้ได้เอง โดยวางอยู่ที่ความชอบความชังตามวิธีนี้ (ตาเห็นสีใดสวย-ไม่สวย , จมูกได้กลิ่นใดว่าหอม-ไม่หอม) เราจึงอาจกล่าวได้ด้วยว่า จริยศาสตร์ของจูซีนั้นวางอยู่บน "อารมณ์ความรู้สึกแบบประจักษ์นิยม" (empirical feelings) หรือก็คือ จริยศาสตร์ตามแบบลัทธิขงจื่อใหม่นี้ โดยแก่นแล้ววางอยู่บนความรู้สึกที่โยงกับประสาทสัมผัส (ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นอัตวิสัย) นั่นเอง ซึ่งคำถามทางปรัชญาที่เกิดขึ้นต่อไปก็คือ เราแต่ละคนจะสามารถตัดสินคุณค่าในลักษณะร่วมกันได้อย่างไรในเรื่องที่ "ดี-ชั่ว" หากเราเดินตาคำเปรียบเปรยกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่มีลักษณะอัตวิสัย (ส่วนตั๊ว ส่วนตัว) แบบนี้ เพราะในขณะที่คนหนึ่งเห็นว่าสีนี้สวย อีกคนอาจว่าไม่สวย หรือกลิ่นแบบนี้หอม อีกคนอาจจะว่าไม่หอม กลิ่นนี้ไม่หอม อีกคนอาจบอกว่าหอมก็ได้ ? คำอธิบายทางจริยศาสตร์เรื่องการตัดสินดี-ชั่วตามทัศนะจูซี (และสานุศิษย์ที่ติดตามเขา) จึงยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ฉะนั้น ที่จูซีเขียนไว้ว่า "เราก็ไม่ควรกล่าวว่าเขาเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่าความดีและความชั่วคืออะไร แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าเขาควรจะรักและเกลียดสิ่งใดอย่างแท้จริงต่างหาก" ก็อาจพบปัญหาอยู่ ประการหนึ่ง ก็คือ เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าคนถ่อย (เสี่ยวเหริน) นั้นมีการตัดสินเชิงคุณค่าที่บกพร่องไปจากคนทั่วไป (หรือแม้แต่วิญญูชน) ตราบที่ยังแก้โจทย์ที่ผูกกับคำอุปมาการรับรู้ทางประสาทสัมผัสดังกล่าวไม่ได้นั่นเอง เพราะการเห็นและการได้กลิ่นของมนุษย์ทุกคนนั้นใช่จะเหมือนกันทั้งหมด

ป.ล. ขอนอกเรื่องนิด ผมว่าลายมือของจูซีเป็นลายมือแบบอักษรสมัยราชวงศ์ซ่งจริงๆ ซึ่ง ไอ่เชี่ย ผมอ่านไม่ค่อยออกเลย แต่ผมดูจากการเขียนบางตัวที่เหมือนๆกันของจูซีแล้ว ทำให้เห็นว่าลายมือนี้บ่งได้ว่าจูซีเป็นคนที่มีลักษณะคงเส้นคงวา สม่ำเสมอในชีวิตไม่น้อย

*********************************************

[แหล่งอ้างอิง]

Reflections on things at hand; the Neo-Confucian anthology. Compiled by Chu Hsi and Lu Tsu-Ch'ien. (Translated with notes by Wing-Tsit Chan) (New York: Columbia University Press, 1967)

ความคิดเห็น